กรุงเทพฯ, 4 กรกฎาคม 2565 – ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย  และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางไปที่สัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานเสวนาเปิดตัว “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชน” หยุดปกปิดมลพิษ : ข้อมูลมลพิษ คือ สิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสื่อสารต่อสาธารณะให้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ขึ้นในประเทศไทย

กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด

กว่า 50 ประเทศทั่วโลกออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมรวมถึง ​:

  • กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ
  • ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน 
  • การลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน
  • ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน
  • การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ
  • การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ
  • เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี

กฎหมาย PRTR จะสามารถบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ ในขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลเบื้องต้นในการป้องกันและรับมือจากผลกระทบของปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิด

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า

“กฎหมาย PRTR คือการใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน  และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างแท้จริง”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า

“ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมเรื้อรังมานานและส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่จะต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กฎหมาย PRTR จะเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหามลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยมากขึ้นได้ จึงอยากให้ภาคประชาชนร่วมกันออกมาแสดงพลังงานของตัวเองในการสนับสนุนร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนนี้”

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย “กฎหมาย PRTR จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม

กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานได้ ใน

ขณะเดียวกันกฎหมาย PRTR จะสามารถช่วยให้ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลและจัดการเบื้องต้นกับปัญหามลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเองได้”

ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับเต็ม