หลังจากกระทรวงพลังงานลงนามยุติการศึกษา EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา และเริ่มใช้กระบวนการการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลามีความเหมาะสมหรือไม่ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ล่าสุด เพจเฟสบุ๊คเครือข่ายหยุดถ่านหินกระบี่ระบุว่า จากการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนิด้า และกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดทำรายงานมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า กระบี่รอดพ้นจากโครงการถ่านหิน 100 %”  (อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากพลังงานหมุนเวียน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลยังคงถูกเสนอให้เป็นทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้)

ในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงถือโอกาสประกาศชัยชนะต่อสาธารณะว่า ด้วยพลังประชาชนทำให้วันนี้ กระบี่และอันดามันปลอดภัยจากถ่านหินแล้ว และกำลังจะมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน” โดยมีตัวแทนจากเครือข่าย นักวิชาการ นักรณรงค์ ร่วมพูดคุยถึงศักยภาพของกระบี่และอันดามันต่อการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน


แถลงการณ์ ‘วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน’ จากเครือข่าย

หลายปีที่ชีวิตประจำวันของเราชาวกระบี่และอันดามันดำเนินไปด้วยความไม่ปกติ เราซ่อนความกังวลอยู่ในจิตใจจากการที่เรากำลังเผชิญกับสภาวะที่ ผืนน้ำ อากาศ พืชพันธุ์ จะถูกทำลาย จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ก่อสร้างบนพื้นที่อันแสนวิเศษของเรา

ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารทำการผลักดันโครงการ จนหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะได้รับการผลักดันจนสำเร็จ ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร เราเผชิญโจทย์ยากขึ้นเพราะมีปฏิบัติการทางทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มต้นจากกระบวนการรับฟังความเห็นการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกควบคุมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวมทั้งกิจกรรมอื่นๆตลอดกระบวนการคัดค้านโครงการถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคงตลอดมา จนทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวด้วยความยากลำบากแต่ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ประชาชนที่นี่ไม่เคยยอมแพ้

เรามีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ความรักในแผ่นดินนั้นจะทำให้พลังของเราเดินหน้าสู่การปกป้องจนสำเร็จ เราเหลือเพียงความรักในแผ่นดินเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนต่อจากนั้น

จากกิจกรรมการนอนตายหน้ากระทรวงท่องเที่ยวเพื่อประท้วงรัฐบาลภายใต้คำขวัญ ‘การท่องเที่ยวตายแล้ว’ เป็นการเปิดฉากการต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจ ต่อจากนั้นมีการอดอาหารประท้วงรัฐบาล 14 วัน เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน การยึดประตูทำเนียบรัฐบาลจนนำไปสู่การโดนจับกุมไปขังในค่ายทหาร การอดอาหารประท้วงของพี่น้องกระบี่ร่วมกับพี่น้องเทพาหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยพลังงานไฟฟ้าภาคใต้

การเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยพลังงานไฟฟ้าภาคใต้เป็นข้อเสนออันสง่างามของพวกเรา เพราะเป็นการบอกรัฐบาลและสาธารณะว่าหากต้องการยุติความขัดแย้ง ถึงเวลาที่ต้องพูดความจริง โดยต้องมีกระบวนการนำความจริงมาไว้บนโต๊ะและกำหนดกลไกด้านพลังงานไฟฟ้าจากข้อเท็จจริงเหล่านั้น ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลและต่อจากนั้นได้มีกลไกการจัดทำรายงานประเมินเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยพลังงานไฟฟ้าภาคใต้จนกระทั่งถึงวันนี้ผลการใช้ข้อเท็จจริงในการกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานไฟฟ้าปรากฎผลว่า ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้นั้นไม่มีถ่านหินอยู่ในทางเลือกสามลำดับแรก นั่นหมายความว่าถ่านหินไม่ถูกเลือกให้เป็นพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้ ผลการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้มิได้ส่งผลต่อพี่น้องกระบี่เท่านั้น แต่ส่งผลทั้งหมดต่อพี่น้องภาคใต้ทุกจังหวัด

วันนี้กระบี่ไม่มีถ่านหิน

จากการปกป้องภัยคุกคามจนสำเร็จวันนี้เราจะเดินหน้าต่อในการพัฒนาจังหวัดกระบี่ให้เป็นเมืองของคนทั้งโลก เราจะก้าวสู่ยุทธศาสตร์ krabi go green อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวสีเขียว  อาหารปลอดภัย และสิ่งอื่นที่นำสู่ การ กระจาย เป็นธรรม เติบโต ยั่งยืน  เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องมาเยือนและเป็นเมืองที่เป็นคำตอบของโลกด้านความยั่งยืน

พี่น้องกระบี่ขอขอบคุณจากหัวใจในเพื่อนมิตรทั้งหลายที่ได้ร่วมกันปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ทั้งเพื่อนในภาคใต้ เพื่อนในกรุงเทพ เพื่อนต่างภาค รวมทั้งชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก วันนี้เป็นความสำเร็จร่วมกัน ไม่เพียงปกป้องกระบี่จากถ่านหิน แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางนโยบายให้ประชาชนเข้าไปเป็นผู้ร่วมกำหนด ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญของความเป็นพลเมือง

เราจะเขียนประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ไปด้วยกันด้วยความต่อเนื่อง เพื่อสร้างเมืองที่ดีให้กับโลกอีกหนึงเมือง นั่นคือ krabi go green 

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน