สืบเนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อต่อ “ร่างมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในบรรยากาศทั่วไป” ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์

หนึ่งในวาระการประชุมคือการนำเสนอ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ซึ่งระบุในข้อ 2 ว่า “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในข้อ 3 กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เป็นร่างที่จะลงนามโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายในปี 2565 นี้

เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามและผลักดันรณรงค์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สภาลมหายใจเชียงใหม่ และสภาลมหายใจภาคเหนือ มีความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ดังนี้

  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เข้มงวดและมีความปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นตามกฎหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ทั้งๆ ที่ กรมควบคุมมลพิษได้เสนอเรื่องให้ปรับค่ามาตรฐานตามระดับที่ 3 ขององค์การอนามัยโลกแล้วตั้งแต่ ปี 2564
  • การกำหนดให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นไปตามกรอบเวลาการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษที่กำหนดไว้ระหว่างปี 2565-2567 แต่การนำเสนอ(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมและล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อกำหนดมาตรการและแผนงานที่จะดำเนินการให้ชัดเจนเพื่อรองรับการที่จะบรรลุค่ามาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงปรับปรุงเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศสำหรับฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อรองรับค่ามาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่มีอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทยมีการบังคับใช้เป็นเวลานานกว่า 11 ปี ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ทั่วไปและประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน

เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนฯ เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป ทั้งค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง และค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean)ในเวลา 1 ปี เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ พร้อมกันทันทีภายในเดือนกันยายน ปี 2565