ลพบุรี, 29 มีนาคม 2565 – นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)” สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ [1,2] ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท ทั้งนี้ยอดบริจาคในปัจจุบันอยู่ที่ 706,688.19 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มี.ค. 2565) จากเป้าหมายรวม 1,600,000 บาท [3,4,]

ในปี 2565 กองทุนแสงอาทิตย์ยังคงเดินหน้าระดมเงินบริจาคติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของวิทยาลัย ทำให้ขณะนี้กองทุนแสงอาทิตย์สามารถระดมเงินทุนเพื่อเดินหน้าพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของวิทยาลัยได้อย่างน้อย 5 แห่งจากเป้าหมายทั้งหมด 7 แห่งนำร่องทั่วประเทศ

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “แสงอาทิตย์คือความเป็นธรรมด้านพลังงานที่ให้ความเสมอภาคกับทุกภาคส่วน การเข้าถึงแสงอาทิตย์คือสิทธิของมนุษย์ทุกคน กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน แต่แนวคิดนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มุ่งมั่นผลักดันให้ประชาชนเป็นได้แค่ผู้จ่ายเงินซื้อพลังงานภายใต้การผูกขาดของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ วิถีชีวิตของผู้คน อย่างที่เราจะเห็นได้จากการประท้วงโครงการโรงไฟฟ้าฟอสซิลในหลายพื้นที่ 

ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์จึงทำวิจัยเชิงปฏิบัติการชื่อ “โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ Solar Hospitals” เพื่อระดมเงินบริจาคและติดตั้งให้ครบทั้ง 7 โรงพยาบาล ข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่าแสงอาทิตย์ใช้ได้ทุกภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก จากนั้นกลุ่มเป้าหมายถัดมา คือ วิทยาลัย ทั้งการอาชีพ เทคนิคและอาชีวะ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการติดตั้งและการติดตามผลงาน การเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงานและก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์”

วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง อยู่ในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนด้านวิชาชีพจำนวน 998  คน ตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส.ที่มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาชีพด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม และหลักสูตรพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในการเรียนการสอนที่ทางวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นเช่นกัน 

นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าวว่า “วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดลพบุรีและภาคกลาง และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 ของประเทศจากกองทุนแสงอาทิตย์ วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยราว 1-1.2 ล้านบาทต่อปี การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัยและยังสามารถใช้หลังคาโซลาเซลล์เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนสู่การประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาและผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์ ซึ่งธุรกิจโซลาร์เซลล์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและระดับประเทศ”

ลพบุรีเป็นพื้นที่ทีมีศักยภาพและความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย จากข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า จังหวัดลพบุรีมีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 24 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 205 เมกะวัตต์ [5] ทั้งนี้หลังคาว่างของบ้านเรือน อาคารสถาบันการศึกษา หน่วยงานและสถานประกอบการมีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท้อปเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีก สร้างการจ้างงานและเศรษฐกิจที่ฐานรากอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม [6,7,8]

นายธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฎิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “โลกเและประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการต้องมีเจตจำนงที่จะเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยการผลักดันให้เกิดการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงเรียนและวิทยาลัยกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้กําลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 22,000 ล้านบาท การลงทุนนี้จะช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มทั้งหมดราวกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี คือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 4.48 ปี และประหยัดเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปได้ทุกปีตลอดอายุขัย 20 ปีของแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่จะกลายเป็นอนาคต และเตรียมพร้อมอาชีวะสร้างชาติในอนาคตยุคต่อไป”

หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1)คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2)คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช) (3)สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4)มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) (5)เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6)สมาคมประชาสังคมชุมพร(7) มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต (8)บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9)Solarder (10)โรงเรียนศรีแสงธรรม (11)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด) (12)เครือข่ายสลัม4ภาค (13)มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14)เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15)มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16)กรีนพีซ ประเทศไทย (17) สภาองค์กรของผู้บริโภค

[3] ในช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 240.63 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จ. ขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี

[4] ในปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์จะระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ เป็นการระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง, วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง, วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

[5] สถานะการรับซื้อ SPP, VSPP คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

[6] รายงานการการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

[7] รายงานปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (ปี 2564-2566) Thailand Solar Rooftop Revolution for Green and Just Economic Recovery 2021-2023

[8] ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐสภาไทย ประกาศสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา โทร. 095 534 2575

www.thailandsolarfund.org และเฟสบุ๊ค กองทุนแสงอาทิตย์

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย โทร.081 929 5747