โตเกียว,ญี่ปุ่น,11 มีนาคม 2565 – กรีนพีซ ญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ในวันครบรอบ 11 ปีของแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น(Great East Japan Earthquake) หรือ แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011 (2011 Tohoku earthquake) และอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ

แซม แอนเนสลีย์ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า

“สิบเอ็ดปีผ่านไปแล้วตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ก่อให้เกิดหายนะภัยอย่างใหญ่หลวง เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่เสียชีวิตและขอแสดงความนับถืออย่างจริงใจต่อผู้ที่เผชิญกับวิกฤตมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเสียใจอย่างสุดซึ้ง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหายนะภัยนิวเคลียร์ซึ่งยังมุ่งมั่นเพื่อฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 11 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สึนามิ และหายนะภัยนิวเคลียร์นั้นเป็นตัวอย่างแห่งความหวัง ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อความทรงจำเกี่ยวกับหายนะและภัยพิบัติค่อย ๆ เลือนหายไป ขณะนี้เองก็มีความท้าทายใหญ่หลวงที่เราต้องเผชิญ

ญี่ปุ่นยังคงมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 59 เครื่อง รวมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ปิดทำงานอย่างถาวร จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 10 เครื่องที่เริ่มทำงานใหม่ (1) เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมแนวคิดที่ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และจะเป็นหนึ่งในแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกของสังคมคาร์บอนต่ำและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมหาศาล แต่มีความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ความเสี่ยงนั้นไม่จำกัดเพียงภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในกรณีฟุกุชิมะ แต่ความเสี่ยงจะยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างความขัดแย้ง เช่น ในกรณีของสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Zaporizhzia) ในยูเครน (2)

ในบรรดาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 10 เครื่องที่เริ่มทำงานใหม่ในญี่ปุ่น มีเพียง 5 เครื่องเท่านั้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นข้อบังคับและมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อตอบโต้เหตุการณ์ต่างๆ เช่น การชนกันของเครื่องบิน เป็นต้น  แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เหล่านี้จะปลอดภัย 100% จากความเสี่ยงของภัยพิบัติทางธรรมชาติและความขัดแย้งในอนาคต ดังที่เราประสบในกรณีหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ

หายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ยังคงดำเนินต่อไป ผู้คนจำนวนมากในญี่ปุ่นถูกบังคับให้ออกจากบ้านหลังเกิดภัยพิบัติและยังคงอาศัยอยู่ในฐานะผู้อพยพ มีโจทก์มากกว่า 12,000 รายทั่วประเทศในกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลและบริษัท TEPCO (3)

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเมื่อปี 2564 ว่าจะปล่อยทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีราว 1.29 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในแท็งก์บริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะเดียวกัน ในปี 2564 มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้น 150 ตันต่อวัน (4) ยังคงไม่มีการจัดการปัญหาในระดับพื้นฐานเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ แม้เวลาจะผ่านไป 11 ปี ก็ยังไม่มีเป้าหมายหรือแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน (5)

หลังจากที่เกิดหายนะภัยนิวเคลียร์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นทางเลือก ซึ่งเร่งเร้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้นไปอีก ขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังใช้ทางเลือกที่ผิดพลาดอีกครั้ง คือ พยายามที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกโดยอ้างว่าเพื่อต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การคงไว้ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระทำที่จงใจสร้างความหายนะให้กับตนเอง

ในฐานะเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรงจากทั้งหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์ เราเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแสดงภาวะผู้นำระดับโลกโดยปฏิเสธการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานบนรากฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม”

หมายเหตุ :

(1) ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) ข้อมูลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น 

(2) ใบแถลงข่าวของกรีนพีซเรื่อง บทวิเคราะห์ล่าสุดของกรีนพีซว่าด้วยหายนะภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Zaporizzhia) ในยูเครน – ทางออกเดียวคือยุติสงครามทันที 

(3) สำนักข่าว NHK (ภาษาญี่ปุ่น 4 มีนาคม 2565 ) 

(4) หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน (31 มกราคม 2565 ) 

(5) รายงานของกรีนพีซ เรื่อง“Decommissioning of the Fukushima Daiichi Nuclear Power Station From Plan-A to Plan-B Now, from Plan-B to Plan-C” (มีนาคม 2564 )

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร.081 929 5747 อีเมล [email protected]