แคนส์ ออสเตรเลีย, 28 กุมภาพันธ์ 2565 – กรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิกเผย จากรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC ที่เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นตัวเร่งทำให้ปะการังใน เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ปรับตัวกับภาวะที่เกิดขึ้นไม่ทัน รวมทั้งน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นยังทำให้ปะการังเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นและเร็วกว่าเดิมจากที่เคยวางแผนไว้

จากรายงานคณะทำงานที่ 2 ภายใต้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวรับมือต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความเปราะบางของแนวปะการังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเดวิด ริทเตอร์ ผู้บริหารของกรีนพีซออสเตรเลีย แปซิฟิก กล่าวว่านักการเมืองออสเตรเลียจะไม่มีข้ออ้างต่อความล้มเหลวในการปกป้อง เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ มรดกทางนิเวศวิทยาที่สำคัญของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [1]

เขากล่าวว่า “รายงานฉบับดังกล่าวเปรียบเหมือนไฟเตือนฉุกเฉินต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์บนโลก รายงานระบุชัดเจนว่า เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ จะถูกทำลายในอนาคตหากเรายังไม่หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน ก๊าซและน้ำมัน และไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วกว่านี้ พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เช่นพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกที่เสนอคำตอบในการหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปะการังฟอกขาวและยังเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เองก็มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง”

“การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงทันทีทันใดด้วยการหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน เป็นทางเดียวที่จะทำให้ เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ มีโอกาสรอดจากการถูกทำลาย เพราะแนวปะการังจะไม่สามารถทนต่อมาตรการการชดเชยคาร์บอนหรือเทคนิคใด ๆ ก็ตาม เช่น การสร้างม่านบังแดดยักษ์ให้กับแนวปะการัง หรือการเพาะพันธุ์ปะการังหลอดแก้ว รายงานของ IPCC ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่ามาตรการเยียวยาเหล่านั้นเป็นเพียงมาตรการปลายทางแต่ไม่ได้ตัดต้นตอของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ”

“นี่เป็นความอัปยศอย่างยิ่งภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลนายมอร์ริสัน รวมทั้งมรดกจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่ทำให้แนวปะการังแห่งนี้เข้าใกล้สู่หายนะยิ่งกว่าเดิม เราต่างทราบดีว่าอะไรที่เราจะต้องผลักดันให้สำเร็จ และเรามีทางออกด้านพลังงานแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน โดยผู้นำทางการเมืองเพียงแค่ต้องลงมือปฎิบัติเท่านั้น”

ด็อกเตอร์โจดี้ รัมเมอร์ รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลจากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์วิจัยด้านแนวปะการังออสเตรเลีย (ARC) มหาวิทยาลัยเจมส์ คู้ก (James Cook University) กล่าวว่าผลวิจัยของรายงาน IPCC ยิ่งทำให้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านอกจากปะการังแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะไม่รอดชีวิตเช่นกัน หากเรายังไม่รับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยฉุกเฉิน 

“เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ เป็นบ้านของปลากว่า 1,500 สายพันธุ์ รวมทั้งฉลาม วาฬ และเต่าทะเลอีกถึง 6 สายพันธุ์จากที่ทั้งโลกมีอยู่ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์แต่พวกมันกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

“งานวิจัยของฉันได้พูดถึงข้อมูลที่ว่าปลาทะเลมีความอ่อนไหวมากแค่ไหนต่ออุณหภูมิในน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งสภาพความเป็นกรดที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เงื่อนไขเหล่านี้กระทบต่อความสามารถของพวกมันในการผลิตออกซิเจน (เพื่อหายใจ) จากน้ำและใช้ในการว่ายน้ำ และกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกมัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเร็วและจริงจังให้มากที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้นกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตหลายร้อยสายพันธุ์และเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบนิเวศอีกด้วย”

โทนี่ ฟอนเทส เจ้าของธุรกิจการดำน้ำสกูบาในหาดแอร์ลีย์ (Airlie Beach) บนหมู่เกาะวิทซันเดย์ในทางใต้ของอ่าว เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียปกป้องเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ อย่างเข้มงวดกว่าเดิม

“ผมดำน้ำในอ่าวนี้มามากกว่า 40 ปีและที่นี่ยังคงสวยงามอยู่เสมอ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นผลกระทบที่ร้ายแรงโดยตรงนั่นคือเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสียหายของอ่าวจากพายุหมุนเขตร้อนรุนแรง”

“ผมอยากให้คนรุ่นหลังยังคงมีโอกาสได้เห็นอ่าวและทึ่งไปกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่อาศัยในอ่าว และทางเดียวที่เราจะให้พวกเขาได้เห็นความมหัศจรรย์เหล่านี้คือต้องเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เราต่างรู้ดีว่าการเปลี่ยนผ่านต้องเกิดขึ้นเพียงแต่นักการเมืองในประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมถ่านหินและก๊าซจะมีความกล้าหาญเพียงพอหรือไม่ที่จะออกมาปกป้องสิ่งมหัศจรรย์อันล้ำค่าของโลกตามหน้าที่ของพวกเขา”


อ้างอิง

ข้อสรุปสำหรับสื่อมวลชน เกี่ยวกับความเห็นในรายงาน IPCC ของกรีนพีซออสเตรเลีย แปซิฟิก

https://www.greenpeace.org.au/research/media-briefing-on-the-ipccs-working-group-2-report-on-climate-impacts-adaptation-and-vulnerability/

ภาพและวิดีโอ เกรท แบร์ริเออร์ รีฟของกรีนพีซ และภาพถ่ายใต้น้ำ ข้อความยักษ์บนหาดทรายเรียกร้องให้ปกป้องอ่าวและคลิปการแถลงข่าวโดยเดวิด ริทเตอร์ ผู้บริหารของกรีนพีซออสเตรเลีย แปซิฟิก ด็อกเตอร์โจดี้ รัมเมอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คู้กส์ และโทนี่ ฟอนเทส นักดำน้ำจากหมู่เกาะวิทซันเดย์ 

https://media.greenpeace.org/collection/27MDHUHDA768

ติดต่อ

Greenpeace Australia Pacific Climate Impacts Campaigner, Martin Zavan

+61 424 295 422

[email protected]