นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์”

สกลนคร, 10 มีนาคม 2565 – นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)” สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ [1,2] ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ

วิทยาลัยเทคนิคสกลนครถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 3 ของประเทศ ที่เริ่มโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นนี้ 

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา กองทุนแสงอาทิตย์ได้ชะลอการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของวิทยาลัยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามการบริจาคของประชาชนยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้กองทุนแสงอาทิตย์สามารถระดมเงินทุนเพื่อเดินหน้าพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของวิทยาลัยได้อย่างน้อย 5 แห่งจากเป้าหมายทั้งหมด 7 แห่งนำร่องทั่วประเทศ ยอดบริจาคในปัจจุบันอยู่ที่ 706,582.19 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มี.ค. 2565) จากเป้าหมายรวม  1,600,000 บาท เพื่อดำเนินการติดตั้ง วิทยาลัยแสงอาทิตย์” (Solar Generation) ระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท”

และในปีนี้เรายังคงเดินหน้าโครงการเฟสที่ 2  คือ “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์” (Solar Generation) [3,4 ] ในวันนี้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยเทคนิคสกลนครได้สำเร็จแล้ว 

วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพราว 5,600 คน ในด้านวิชาชีพตั้งแต่ระดับ ปวช.  ปวส. คือ กลุ่มวิชาอุตสาหกรรม กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม และระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) ทั้งนี้ทางวิทยาลัยเทคนิคสกลนครมีการพัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับนักเรียนเช่นกัน การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

นายประดิษฐ์ ญาณประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวว่า “วิทยาลัยเทคนิคสกลนครมีนักเรียนจำนวนกว่าห้าพันคน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2562-2564 ส่งผลให้วิทยาลัยต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าราวปีละ 4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละราว 3 แสนกว่าบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้าของกลุ่มวิชาอุตสาหกรรมที่มีการทดลอง คิดค้นและประดิษฐ์งานจริงตลอดหลักสูตร ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัย และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในวิทยาลัย และสิ่งสำคัญคือ การเริ่มต้นติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ เป็นการติดตั้งที่สถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดสกลนคร ซึ่งสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียนและจะจบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสในการสร้างอาชีพจากการลงทุนหรือทำงานติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย”

นายธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฎิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการจ้างงานโซลาร์เซลล์ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีนัยสำคัญ [5,6]  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงงานแสงอาทิตย์ การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถือเป็นการมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และหยุดยั้งหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้ว [7] พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นรากฐานของความยั่งยืนสำหรับอนาคตของพวกเราทุกคน”

หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1)คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2)คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช) (3)สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4)มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) (5)เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6)สมาคมประชาสังคมชุมพร(7) มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต (8)บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9)Solarder (10)โรงเรียนศรีแสงธรรม (11)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด) (12)เครือข่ายสลัม4ภาค (13)มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14)เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15)มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16)กรีนพีซ ประเทศไทย

[3] ในช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 240.63 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จ. ขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี

[4] ในปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์จะระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ เป็นการระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง,วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง, วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

[5] รายงานการการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

[6] รายงานปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (ปี 2564-2566)Thailand Solar Rooftop Revolution for Green and Just Economic Recovery 2021-2023

[7] ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา โทร. 095 534 2575

www.thailandsolarfund.org และเฟสบุ๊คกองทุนแสงอาทิตย์

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย โทร.081 929 5747