เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์, 28 กุมภาพันธ์ 2565 – ในการประเมินผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน คณะทำงานที่ 2 ภายใต้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้นำเสนอผลการประเมินทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดต่อรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกในวันนี้


โดยการเน้นถึงผลกระทบ ความเปราะบาง และการปรับตัวรับมือต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Impacts, Adaptation and Vulnerability) รายงานฉบับนี้ระบุรายละเอียดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อผู้คนและระบบนิเวศทั่วโลกว่ามีความรุนแรงอย่างไร

ไกซ่า โคโซเนน ที่ปรึกษาทางนโยบายอาวุโส กรีนพีซ นอร์ดิก กล่าวว่า

“เมื่ออ่านรายงานของ IPCC ฉบับนี้แล้วปวดใจ เราต้องยอมรับก่อนว่าเราจะต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงด้วยความตรงไปตรงมาอย่างถึงที่สุด เราถึงจะหาทางออกที่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่โยงใยถึงกันและกัน

“เราต้องร่วมกันคนละไม้คนละมือ เราต้องทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นและชัดเจนขึ้นในทุกระดับ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิทธิและความจำเป็นของผู้คนที่ตกอยู่ในความล่อแหลมต่อผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือหัวใจสำคัญของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องยืนหยัด ต้องกล้าหาญ และคิดการใหญ่”

ธันดิล ชินยะวานฮู ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า

“ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องความอยู่รอดของผู้คนจำนวนมาก เพราะบ้านและอนาคตพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง นี่คือสถานการณ์ในชีวิตจริงของชุมชน Mdantsane ที่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา ชุมชนใน Qwa qwa ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขหรือการศึกษาอันเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว แต่พวกเราจะสู้ไปด้วยกัน เราจะประท้วงบนถนน เราจะไปขึ้นศาล รวมตัวกันเพื่อทวงคืนความเป็นธรรม เราจะทำให้ผู้ก่อวิกฤตโลกร้อนต้องมีภาระรับผิด” 

หลุยส์ โฟร์เนียร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สากล กล่าวว่า

“จากรายงาน IPCC ฉบับใหม่นี้ รัฐบาลและบรรษัททั้งหลายไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องลงมือทำในสิ่งที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปกป้องสิทธิมนุษยชน ถ้าพวกเขาไม่ทำ ก็เจอกันที่ศาล ชุมชนมีความเสี่ยงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเดินหน้าปกป้องสิทธิพวกเขา โดยเรียกร้องความเป็นธรรม และภาระรับผิดของผู้ก่อวิกฤต ในปีที่ผ่านมา มีการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับผลกระทบที่โยงใยกันของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และย้ำถึงบรรทัดฐานระดับโลกว่า การปกป้องสภาพภูมิอากาศคือการปกป้องสิทธิมนุษยชน”

ลอร่า เมลเลอร์ ซึ่งออกเดินทางสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่แอนตาร์กติกในโครงการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซ กล่าวว่า 

“ทางออกของปัญหาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์เป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราไม่ต้องการคำพูดอีกต่อไป เราต้องลงมือทำ รัฐบาลทั่วโลกจะต้องเห็นพ้องต้องกันในสนธิสัญญาทะเลหลวง ที่จะมีการเจรจาในเดือนหน้าโดยสหประชาชาติ นำไปสู่การปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ถ้าเราปกป้องมหาสมุทร มหาสมุทรจะปกป้องเรา”

ลี่ ซัว ที่ปรึกษาด้านนโยบายระดับโลก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า

“ธรรมชาติของเรากำลังถูกคุกคามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และนั่นไม่ใช่อนาคตที่เราต้องการ รัฐบาลต้องลงมือทำตามคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (the UN Biodiversity Summit) ที่จะมีขึ้นในปีนี้ โดยการมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลพื้นดินและมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573”

นับจากรายงานการประเมินของ IPCC ครั้งก่อน ความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น IPCC ระบุว่า การเสียชีวิตจากอุทกภัย ภัยแล้ง และพายุเพิ่มสูงขึ้นถึง 15 เท่าในประเทศที่มีความล่อแหลมสูงต่อผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายงาน IPCC ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตทางธรรมชาติที่โยงใยถึงกัน โดยการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศเท่านั้น มนุษย์จึงจะมีศักยภาพในการรับแรงกระแทกและฟื้นตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และปกป้องระบบนิเวศที่สนับสนุนค้ำจุนสุขภาวะของสังคมมนุษย์ 

รายงาน IPCC จะกำหนดการเมืองว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ จะต้องการหรือไม่ก็ตาม COP26 ที่กลาสโกว์ ปี 2564 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยอมรับว่ายังลงมือทำไม่มากพอที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยสัญญาว่าจะทบทวนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายในสิ้นปี 2565 การประชุม COP27 ในอียิปต์ปลายปี 2565 นี้ ประเทศต่าง ๆ ต้องเน้นทำงานเพื่อปิดช่องว่างในเรื่องของการปรับตัว ความสูญเสียและความเสียหาย และความไม่เป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่ขยายลงลึก โดยใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ล่าสุดจากรายงาน IPCC

คณะทำงานที่ 2 ของการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC จะส่งต่อไปยังคณะทำงานที่ 3 ที่จะนำเสนอรายงานว่าด้วยการประเมินแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเดือนเมษายน 2565 ที่จะถึงนี้ ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC จะออกมาเป็นรายงานสังเคราะห์(Synthesis Report) ในเดือนตุลาคม 2565

ภาพถ่าย: ภาพนิ่งและวิดีโอผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสามารถดาวน์โหลดได้ที่ Greenpeace Media Library

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย อีเมล [email protected] โทร 081 929 5747

โต๊ะข่าวกรีนพีซ สากล อีเมล [email protected] โทร +31 20 718 2470 

(ตลอด 24 ชั่วโมง)