กรุงเทพฯ, 17 กุมภาพันธ์ 2565 – กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ “สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ” เพื่อรวบรวมและนำเสนอข้อมูลการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ในประเทศไทย ผ่านการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลและภาพ (Data Storytelling) เพื่อสะท้อนให้สาธารณชนได้เห็นว่าพบเจอขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าและบริษัทใดมากที่สุดในพื้นที่สำรวจ พร้อมตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิต

แพลตฟอร์ม “สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ” เป็นพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจและต้องการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกสามารถเรียนรู้ต้นทางของปัญหามลพิษผ่านข้อมูลการเก็บและบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครกรีนพีซ และเครือข่ายต่าง ๆ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตแบรนด์ใดทั้งไทยและต่างประเทศที่มีขยะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สำรวจมากที่สุด และควรมีความรับผิดชอบต่อมลพิษที่เกิดขึ้นจากสินค้าของตน ผู้ที่สนใจสามารถเลือกดูข้อมูลได้ตามประเภทของขยะพลาสติก ประเภทบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลรายปี รายพื้นที่ที่สำรวจ หรือแม้แต่อันดับของแบรนด์ที่เจอขยะมากที่สุด

นอกจากนี้ ผู้คนยังสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลขยะพลาสติกที่พบเจอในสิ่งแวดล้อมได้ โดยการร่วมเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen science) เก็บขยะในชุมชนของตนเอง หรือตามสถานที่ที่ต้องการสำรวจขยะ แล้วส่งข้อมูลมาเพื่อรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มนี้ได้

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า
“การมีฐานข้อมูลที่รวบรวมเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่เจอในสิ่งแวดล้อมของไทยจะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบและสำรวจข้อมูลในแต่ละพื้นที่ว่ามีขยะประเภทใดบ้างที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่เก็บมานั้นยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่ช่วยให้เราสืบหาได้ว่าขยะเหล่านั้นเป็นของแบรนด์อะไร และบริษัทไหน และตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในฐานะที่เป็นคนก่อมลพิษตั้งแต่ต้นทางควรมีส่วนรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ของตนเองที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง”

ตั้งแต่ปี 2561-2564 อาสาสมัครกรีนพีซและเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ได้ร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ในประเทศไทยมาโดยตลอด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นพบขยะพลาสติก 28,207 ชิ้น จาก 643 บริษัทเเม่เเละแบรนด์ในเครือเกือบ 1,700 เเบรนด์ โดย 69.94% ของขยะพลาสติกที่พบเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร และส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ของโคคา-โคล่า ดัชมิลล์ และซี.พี.กรุ๊ป ตามมาด้วยพลาสติกประเภทของใช้ในครัวเรือน 15.76% โดยเจอแบรนด์ของบริษัทซี.พี.กรุ๊ป ยูนิลิเวอร์และคาโอในประเภทดังกล่าวมากที่สุด

“ข้อมูลที่ร่วมส่งมาไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไร มาจากพื้นที่ใด ล้วนมีส่วนช่วยนำเสนอปัญหาและผลักดันให้ผู้ก่อมลพิษมาร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม การร่วมมือของทุกคนมีส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตปลอดพลาสติกที่ต้นทาง ผ่านการผลักดันบริษัทต่าง ๆ ให้เป็นผู้นำและสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มลดการผลิตและใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็นลง แล้วหันไปลงทุนกับระบบรีฟิลที่ผู้ซื้อสามารถนำภาชนะส่วนตัวมาเติมสินค้า หรือระบบใช้ซ้ำที่บริษัทหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างขยะให้น้อยที่สุด” พิชามญชุ์กล่าวสรุป

ผู้ที่สนใจผลักดันการแก้ปัญหาขยะพลาสติกสามารถร่วมส่งข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม โดยสามารถอ่านรายละเอียดวิธีการทำแบรนด์ออดิทได้ที่นี่ หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรม Brand Audit กับกรีนพีซได้ที่ [email protected]

หมายเหตุ

  1. เรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษพลาสติกผ่านแพลตฟอร์ม สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ ได้ที่นี่
  2. สำรวจข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทยได้ที่นี่
  3. ดูรายละเอียดวิธีการทำ Brand Audit ได้ที่นี่
  4. ดาวน์โหลดภาพกิจกรรมการเก็บขยะและสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่บางกระเจ้า ปี 2564 ได้ที่นี่

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พรรณนภา พานิชเจริญ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร.095-5853471 อีเมล [email protected]