กลาสโกว์, 13 พฤศจิกายน 2564 – เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากลกล่าวถึงบทสรุปของ COP26 ที่กลาสโกว์ว่า

“ผลการเจรจาออกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่หนักแน่น และเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส(เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม)ยังปรากฏอยู่ในเนื้อหา ยุคถ่านหินกำลังจะหมดลงคือสัญญานที่ส่งออกมาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ”

“ในขณะที่ความตกลงที่กลาสโกว์ตระหนักถึงความจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากที่สุดภายในทศวรรษนี้ พันธกิจดังกล่าวก็ถูกผ่อนผันไปยังปีหน้า เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุควิกฤติสภาพภูมิอากาศจะไม่ทนต่อผลการเจรจาต่างๆ ในทำนองนี้  ทำไมพวกเขาจะต้องทนด้วย ในขณะที่พวกเขาต่อสู้เพื่อปกป้องอนาคต?”

“การประชุมเจรจาที่กลาสโกว์มุ่งหมายที่จะปิดช่องว่างของแผนปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมาย 1.5C แต่ไม่เกิดขึ้น กลับเป็นว่าในปี 2565 รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องกลับมาพร้อมแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายที่แข็งแกร่งกว่านี้ ผลที่เกิดขึ้นมาจากการลงมือทำของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้นำชาวพื้นเมืองทั่วโลก นักกิจกรรมเคลื่อนไหว และกลุ่มประเทศที่เผชิญกับผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  หากไม่มีพวกเขา การเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ระบบสภาพภูมิอากาศของเราที่เคยมีความสมดุล ขณะนี้กำลังล่มสลายลง เราเห็นได้ทุกวัน จากไฟป่า พายุเฮอริเคน ความแห้งแล้ง และการละลายของพืดน้ำแข็ง เราไม่มีเวลาและใกล้หมดหนทางแล้ว เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เราต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างแรงผลักดันที่มิอาจต้านทานได้ในการยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดในที่สุด”

“การเจรจาที่ COP26 มีความคืบหน้าในประเด็นการปรับตัว โดยในที่สุด กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มตอบรับกับการเรียกร้องของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการส่งมอบเงินทุนและทรัพยากรเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  มีการรับรู้ว่ากลุ่มประเทศที่เปราะบางกำลังเผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายที่แท้จริงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ แต่พันธกรณีด้านการเงินนั้นยังไม่สอดรับกับสิ่งที่ต้องการเพื่อลงมือทำ ประเด็นว่าด้วยการเงินด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อการปรับตัวรวมถึงความสูญเสียและความเสียหายนี้จะต้องเป็นวาระหลักอันดับต้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในการประชุมเจรจา COP27 ที่อียิปต์ในปี 2565”

“เนื้อหาความตกลงที่ระบุถึงการเลิกใช้ถ่านหิน(ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน) และยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล นั้นขาดความหนักแน่นและถูกประนีประนอม อย่างไรก็ตาม การปรากฎอยู่ในเนื้อหาความตกลงนั้นถือเป็นความคืบหน้า และการมุ่งเน้นถึงเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม(just transition) ก็เป็นสิ่งสำคัญ  การเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในสิ้นทศวรรษนี้สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส(เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม) และใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐานหลัก แต่ต้องลงมือทำ”

“การชดเชยคาร์บอนที่เป็นเรื่องหลอกลวงนั้นกลายเป็นกระแสหลักของการเจรจาที่กลาสโกว์ด้วยการสร้างช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่เกินกว่าธรรมชาติและชนเผ่าพื้นเมืองจะแบกรับ การชดเชยคาร์บอนที่เป็นเรื่องหลอกลวงนี้คือบ่อนทำลายเป้าหมาย 1.5C เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะทำการสำรวจตรวจสอบเรื่องตลาดชดเชยคาร์บอน แต่ก็ยังต้องลงมือทำอีกมากเพื่อหยุดการฟอกเขียว การฉ้อโกง และช่องทางที่ทำให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรษัทขนาดใหญ่หลีกเลี่ยงภาระรับผิดและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้น”

หมายเหตุ

หากต้องการสัมภาษณ์กับเจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล กรุณาติดต่อ แดนนีเอล ทาฟเฟ ที่ปรึกษาด้านสื่อ กรีนพีซสากล [email protected]

โต๊ะข่าวต่างประเทศของกรีนพีซ [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (ตลอด 24 ชั่วโมง)