กลาสโกว์ 12 พฤศจิกายน 2564 – เนื้อหาใหม่ที่เผยแพร่ออกมาในวันนี้สำหรับมาตรา 6 [1] ของความตกลงปารีสนั้นชัดเจนว่าเปิดช่องทางให้มีการชดเชยคาร์บอน ซึ่งเป็นช่องว่างที่นำไปสู่การนับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้อย่างซ้ำซ้อน และการหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจริงๆ โดยทั้งหมดนี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเกินขีดจำกัด 1.5 C

ลูอิซา แคสสัน นักกิจกรรมรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า

“เนื้อหาใหม่ของมาตรา 6 ให้สิทธิแก่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการหลอกลวง โดยอนุญาตให้นับปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซ้ำ 2 ครั้งอย่างไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย”

การฟอกเขียวผ่านการชดเชยคาร์บอนสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเรื่องตลกของความตกลงปารีส  หากเดินหน้าต่อไป รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะเปิดทางให้ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปภายใต้โฉมหน้า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” โดยไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจริงๆ กรีนพีซเรียกร้องให้คณะผู้เจรจายืนหยัดต่อต้านความหลอกลวงของการฟอกเขียว  เราไม่สามารถออกจากกลาสโกว์ด้วยเนื้อหาในมาตรา 6 ที่ทะลุขีดจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 C

“โลกกำลังจับตามอง การเจรจาที่ปิดลับเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนซึ่งเต็มไปด้วยนักเจรจาต่อรองผลประโยชน์เชื้อเพลิงฟอสซิล 500 คนอย่างไม่ใยดีต่อกลุ่มเยาวชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องอนาคต เครือข่ายชนพื้นเมืองที่จะยังคงต่อสู้เพื่อยุติการชดเชยคาร์บอนที่หลอกลวง”

Juan Pablo Osornio หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่ COP26 กล่าวว่า

“หากการชดเชยคาร์บอนคือความหลอกลวง การนับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ซ้ำ 2 ครั้งก็เหมือนเราถูกตบหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปิดช่องโหว่ที่ขยายเพิ่มขึ้น เราต้องการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง และกฎเกณฑ์ที่เข้มแข็งเพื่อลดการปล่อยจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย 1.5 C ควบคู่ไปกับการ ปกป้องระบบนิเวศตามธรรมชาติและสิทธิมนุษยชน

“คณะเจรจาต้องหยุดกระบวนการการฟอกเขียวดังที่เลขาธิการสหประชาชาติได้เตือนไว้ เราไม่อาจไปจากกลาสโกว์ด้วยเนื้อหาในมาตรา 6 ที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ซึ่งบ่อนทำลายปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่แท้จริง”

หมายเหตุ:

[1] มาตรา 6 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์การดำเนินงานรวมถึงรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Paris rulebook) ภายใต้ความตกลงปารีสปี 2558 มีความยาวเพียงเก้าย่อหน้า แต่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กรีนพีซตีความว่า มาตรา 6 ส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐภาคีและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองว่า มาตรา 6 เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดโลกเพื่อการชดเชยคาร์บอน(carbon offset) การชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมทำรายงานการประเมินของ IPCC ระบุว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในปริมาณมหาศาลและสม่ำเสมอ แต่การชดเชยคาร์บอนนั้นอยู่ตรงกันข้าม โดยเป็นใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป สร้างแรงจูงใจในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า และเอื้ออำนวยให้บรรษัทและรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลเข้ายึดครองผืนแผ่นดินของชุมชนที่เปราะบาง เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน และทำลายระบบนิเวศ https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/climate/cop26/ 

Marie Bout ที่ปรึกษาสื่อ Greenpeace International, [email protected], +33 6 05 98 70 42 โต๊ะข่าวต่างประเทศของกรีนพีซ: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (ตลอด 24 ชั่วโมง)