กลาสโกว์, สก็อตแลนด์ – 1 พฤศจิกายน 2564 การประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) มีการประกาศความตกลงด้านป่าไม้หลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ ความตกลงระหว่างกลุ่มรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลบราซิลเพื่อยุติการทำลายป่าภายในปี 2573 แต่กรีนพีซเห็นว่าความตกลงดังกล่าวนี้เป็นใบอนุญาตที่นำไปสู่การทำลายป่าไม้ต่อไปอีกนับทศวรรษ

© Christian Braga / Greenpeace

หลังจากมีการประกาศความตกลงดังกล่าว แครอลิน่า ปาสควาลิ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ บราซิล กล่าวว่า

“ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาโร ยินดีที่จะเซ็นยอมรับความตกลงใหม่นี้เพราะจะเป็นการเปิดทางให้เกิดการทำลายป่าขึ้นอีกในอีกทศวรรษข้างหน้า และความตกลงใหม่นี้ไม่มีข้อผูกมัดในทางกฏหมาย ในขณะที่ผืนป่าแอมะซอนใกล้ล่มสลายแล้ว และไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้หากยังต้องเจอกับการทำลายล้างต่อไปอีกหลายปี ชนเผ่าพื้นเมืองเรียกร้องให้ปกป้องผืนป่าแอมะซอนร้อยละ 80 ให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งถูกต้องและจำเป็น การปกป้องสภาพภูมิอากาศและโลกธรรมชาติไปด้วยกันไม่ได้กับความตกลงใหม่นี้

ความตกลงใหม่นี้จะเข้ามาแทนปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ปี 2557(the 2014 New York Declaration on Forests) (แม้ว่าบราซิลไม่ได้ลงนามในปฏิญาณนั้นก็ตาม) ปฏิญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลทำงานร่วมมือเพื่อยุติการสูญเสียป่าไม้ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 และจะต้องสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อยุติการทำลายป่าที่สัมพันธ์กับในห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2563 แต่ในความเป็นจริงแล้วอัตราการสูญเสียผืนป่าเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตกลงใหม่ด้านป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานนั้นไร้ประสิทธิภาพและจะไม่แก้ไขความล้มเหลวของบรรษัทอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำลายล้างป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบราซิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในปี 2563 จากการทำลายป่าแอมะซอน อันเป็นผลมาจากนโยบายที่เกิดขึ้นอย่างจงใจของรัฐบาลประธานาดีโบลโซนาโร เมื่อพิจารณาจากประวัติที่ผ่านมา กรีนพีซกำลังเตือนว่าอาจมีโอกาสที่ประธานาดีโบลโซนาโรจะเดินหน้าความตกลงแบบสมัครใจนี้และวางนโยบายของประเทศให้สอดคล้อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว คือความพยายามออกกฎหมายที่เร่งให้เกิดการทำลายล้างระบบนิเวศป่าไม้ให้เร็วขึ้น

© Christian Braga / Greenpeace

ช่องโหว่สำคัญในความตกลงใหม่ด้านป่าไม้ คือ ยังขาดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการลดความต้องการในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการทำลายระบบนิเวศผ่านการขยายตัวของการทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่เชิงอุตสาหกรรมและการปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์

แอนนา โจนส์ หัวหน้างานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า

“ตราบเท่าที่เรายังไม่หยุดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตร และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ลดกินเนื้อสัตว์ ลดผลิตภัณฑ์นมที่มาจากอุตสาหกรรม สิทธิชนพื้นเมืองก็ยังคงถูกคุกคามและธรรมชาติก็ยังคงถูกทำลาย แนวทางเดียวคือเราต้องให้ผืนป่าได้ฟื้นฟูตัวเอง”

ยังมีการประกาศถึงกรอบการเงินใหม่สำหรับกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ รวมทั้งในบราซิลและลุ่มน้ำคองโกในแอฟริกา แอนนา โจนส์ กล่าวว่า

“เงินทุนที่จะมีขึ้นเป็นเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบความจำเป็นในการปกป้องธรรมชาติทั่วโลก ยิ่งพิจารณาว่า สิ่งที่รัฐบาลของประเทศดังกล่าวดำเนินการในอดีตโดยการละเมิด และคุกคามสิทธิของชนพื้นเมืองและเดินหน้าทำลายผืนป่า จำเป็นต้องจับตาดูกันยาวๆ เพื่อรับรองว่าเงินทุนปกป้องป่าไม้นี้ไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นตัวการทำลายป่า กองทุนเหล่านี้เป็นคำมั่นของรัฐบาลประเทศต่างๆ ภายใต้ Global Forest Finance Pledge โดยมาจากเงินช่วยเหลือ ดังนั้น จึงไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ อีกทั้ง ยังไม่รับประกันว่า การบริจาคจากภาคธุรกิจเพื่อเข้ากองทุนนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อชดเชยคารืบอน แทนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง

ในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกถอดถอนการยุติสัมปทานทำไม้ นักกิจกรรมรณรงค์กังวลว่า ข้อเสนอเรื่องการเงินเพื่อปกป้องป่าไม้จะไม่ไปสอดคล้องกับสถานการณ์นี้โดยบังเอิญ

โฆษกของกรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า

“การเปิดทางให้มีการสัมปทานทำไม้ที่(แต่เดิมมีกฎหมายห้าม)ของ รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จะทำให้ผืนป่าที่มีขนาดเท่ากับพื้นที่กรุงปารีสตกอยู่ในอันตราย เป็นภัยคุกคามกับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงยังสร้างความเสี่ยงของโรคระบาดจากคนสู่สัตว์มากขึ้นในอนาคต ซึ่งนั่นก็อาจทำให้เกิดโรคระบาดตามมา ด้วยเดิมพันสูงขนาดนี้ การเงินเพื่อปกป้องป่าไม้แบบใหม่ใดๆ  ที่เสนอให้กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกจะเกิดขึ้นได้หากนำเอานโยบายยุติสัมปทานป่าไม้กลับมา”  

หมายเหตุ :

Macarena Mairata, Press Officer, Greenpeace Brazil,  macarena.mairata@greenpeace.org, +55 92 9480 3580

Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)