ลอนดอน, 21 ตุลาคม 2564 – รายงานข่าวจากอันเอิร์ธ เปิดเผยเอกสารรั่วไหลที่ระบุว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตถ่านหิน เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมและอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งพยายามลบผลการค้นพบในรายงานด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่คุกคามผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมดังกล่าว

การเปิดเผยครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนจะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลุ่มประเทศไม่กี่ประเทศเหล่านี้กำลังลดทอนความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่กำลังจะเผยแพร่รายงานการประเมินและทางเลือกในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่ให้เกิน ขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส

โดยเอกสารที่รั่วไหลออกมานั้นเต็มไปด้วยความคิดเห็นหลายหมื่นความคิดเห็นจากภาครัฐ เอกชน กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อร่างรายงานของ IPCC ในส่วน Working Group III ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลก เพื่อให้คำแนะนำว่าเราจะชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างไร

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก IPCC ไม่จำเป็นต้องยอมรับความคิดเห็นดังกล่าว อีกทั้งงานของพวกเขาทุกคนได้รับการตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวกลุ่มประเทศผู้นำของโลกอาจนำมาใช้ในการประชุมครั้งนี้

อันเอิร์ธ (Unearthed) ได้วิเคราะห์เอกสารที่รั่วไหลโดยมีประเด็น ดังนี้ :

  • ประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรวมทั้งออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (the Organisation of Petroleum Exporting Countries (OPEC)) กำลังล็อบบี้ให้ IPCC ลบหรือลดทอนข้อสรุปสำคัญที่โลกจะต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธข้อสรุปที่ว่าหนึ่งในก้าวสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศนั่นคือยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกดดัน IPCC ให้เสนอเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเป็นข้อเสนอที่สำคัญกว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ [1];
  • บราซิลและอาร์เจนตินา สองประเทศผู้กุมอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์ที่ใหญ่สุดของโลกกำลังกดดันผู้เขียนรายงานของ IPCC ให้ลบข้อความเกี่ยวกับการฟื้นฟูวิกฤตสภาพภูมิอากาศหากมีการเปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มาจากพืชผักแทนการบริโภคเนื้อสัตว์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์นม ด้านอาร์เจนตินากดดันให้ลบเนื้อหาการอ้างอิงถึงภาษีเนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งแสดงความเห็นว่าโครงการรณรงค์ลดบริโภคเนื้อระดับนานาชาติที่ชื่อ ‘Meatless Monday’ เป็นโครงการที่เต็มไปด้วยอคติ
  • รัฐบาลออสเตรเลียขอให้ลบประเทศตัวเองออกจากรายชื่อกลุ่มประเทศที่มีการผลิตและใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมากที่สุดในโลก ซึ่งในทางกลับกันก่อนหน้านี้ออสเตรเลียเป็นประเทศอันดับ 5 ที่ผลิตถ่านหินมากที่สุดในโลก ในช่วงปี 2561-2563 โดยให้เหตุผลที่ว่าออสเตรเลียไม่ได้ใช้ถ่านหินมากเท่ากับประเทศอื่น และยังขอให้ IPCC ลบบทวิเคราะห์ที่อธิบายถึงการล็อบบี้จากบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินที่ต้องการลดทอนทางเลือกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา
  • รัฐบาลหลายประเทศยังตั้งคำถามต่อการวิจารณ์ระบบการชดเชยคาร์บอน แม้ว่าจะมีหลักฐานออกมาแล้วว่าแนวคิดนี้มีข้อบกพร่อง แต่รัฐบาลของแคนาดา สหรัฐอเมริกา และอังกฤษต่างตั้งคำถามต่อคำเตือนของ IPCC ที่ว่า การปลูกป่าชดเชยอาจถูกใช้เป็น ‘การฟอกเขียวต้นทุนต่ำ’ ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียโต้แย้งมาตรการจูงใจทางภาษีน้ำมันที่จะมาชดเชยคาร์บอนหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เตือนว่าโลกจะต้องหยุดการแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายในปีนี้ ขณะที่รายงานขององค์การสหประชาชาติ ที่เพิ่งเผยแพร่ระบุว่าแผนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้น ‘มีมากเกินไป’ เกินกว่าที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล ให้ความเห็นต่อการเปิดเผยเอกสารในครั้งนี้ว่า

“นี่เป็นการเปิดเผยเบื้องหลังว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตถ่านหิน น้ำมัน และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์บางกลุ่ม ยังคงเห็นแก่ผลกำไรของอุตสาหกรรมกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และอนาคตของโลก แทนที่การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและยุติการผลิตเนื้อสัตว์จากอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน พวกเขากลับฉวยโอกาสปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทตัวเองและยังดำเนินธุรกิจไปโดยปกติแม้ว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น แม้แต่รัฐบาลออสเตรเลียยังทำแม้กระทั่งตั้งคำถามกับความจำเป็นในการหยุดใช้ถ่านหิน รวมทั้งยังพยายามเขียนอดีตของตัวเองใหม่ด้วยการปฏิเสธว่าภาคเอกชนมีบทบาทในการขัดขวางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ในเวลานี้ทั่วโลกกำลังจับตาการประชุม COP 26 ที่จะจัดขึ้นที่กลาสโกว์ ผู้นำแต่ละประเทศควรตระหนักว่าคนกลุ่มนี้จะทำลายโอกาสที่เราจะคงอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้มากแค่ไหน ดังนั้นนี่คือบททดสอบสำคัญสำหรับผู้นำแต่ละประเทศทั่วโลก ว่าพวกเขาจะสามารถตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้รวดเร็วและทันการณ์ตามที่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ระบุไว้ได้หรือไม่ พวกเขาอาจถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในทางที่ไม่ดีหากพวกเขาล้มเหลว และเราจะเฝ้าจับตาดูการประชุมครั้งนี้”


หมายเหตุ

  1. ข้อมูลจาก สถาบัน โกลบอล ซีซีเอส (Global CCS) ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถดักจับคาร์บอนที่ผลิตขึ้นได้สำเร็จ
Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
รัฐบาลไทยต้องหยุดฟอกเขียว! เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration)”

มีส่วนร่วม