รายงานแบรนด์ออดิทปี 2564 ยังพบจำนวนขยะพลาสติกจากผู้สนับสนุนหลักของ COP26 อย่างยูนิลิเวอร์ เพิ่มขึ้นจนติดอันดับผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

กรุงเทพฯ, 25 ตุลาคม 2564– รายงานการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก หรือ Brand Audit โดย Break Free From Plastic เผยบริษัท โคคา-โคล่า และเป๊ปซี่โคติดอันดับผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และยังเป็นผู้ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

กิจกรรมเก็บขยะชายหาดจัดขึ้นโดยอาสาสมัครกว่า 11,000 คนใน 45 ประเทศ เพื่อตรวจสอบว่าแบรนด์สินค้าใดเป็นผู้ก่อมลพิษมากที่สุด กิจกรรมแบรนด์ออดิทในปีนี้พบขยะพลาสติกจากบริษัทโคคา-โคล่ามากที่สุดโดยมีถึง 20,000 ชิ้น ซึ่งมากกว่าขยะพลาสติกจากแบรนด์ที่พบอันดับ 2 และ 3 รวมกัน และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2562 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าคำมั่นที่โคคา-โคล่าให้ไว้ว่าจะเก็บขวดกลับคืนในทุก ๆ การซื้อนั้นแทบไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากบริษัทเลย

เป๊ปซี่โคยังคงติดอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน แม้ว่าเป๊ปซี่โคจะให้สัญญาโดยสมัครใจว่าจะลดการใช้พลาสติกใหม่ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เป๊ปซี่โคจะต้องเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกและไม่ให้บริษัทต้องติดอันดับในรายงานแบรนด์ออกดิทที่พบเจอขยะจากเป๊ปซี่โคเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่ที่มีการจัดทำแบรนด์ออดิทมาตั้งแต่ปี 2561 ปีนี้เป็นปีแรกที่ยูนิลิเวอร์ติดอันดับ 3 จากผู้ก่อมลพิษมากที่สุด และยังเป็นปีเดียวกับที่ยูนิลิเวอร์เป็นผู้สนับสนุนหลักในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่กลาสโกล์ว เนื่องจาก 99% ของพลาสติกทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และบริษัทเชื้อเพลงฟอสซิลกำลังพยายามมุ่งเน้นธุรกิจพลาสติกเพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ บทบาทของยูนิลีเวอร์ใน COP26 จึงดูสวนทางเป็นอย่างยิ่ง

บริษัทเหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมอย่างมหาศาลทั้งในวิกฤตมลพิษพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

อาบิเกล อากีลาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลาสติกระดับภูมิภาค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชื่อของผู้ก่อมลพิษมากที่สุดในโลกติดต่อกัน 4 ปีเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดิม บริษัทเหล่านี้อ้างว่าได้พยายามแก้ไขปัญหาพลาสติก แต่พวกเขาก็ยังคงลงทุนในทางออกผิด ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วยังร่วมมือกับบริษัทน้ำมันต่าง ๆ เพื่อก่อพลาสติกมากขึ้นอีก เพื่อหยุดปัญหาเหล่านี้และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทข้ามชาติเช่น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค และยูนิลีเวอร์ จะต้องหยุดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และหลีกห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล”

ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในปีนี้ การตรวจสอบแบรนด์ได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมพลาสติกต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างการที่บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เช่น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

อาเมด อีลาดจ์ ทาเยบ เยาวชนและเลขาธิการของ Youth for Climate Tunisia กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ต้องรับช่วงต่อวิกฤตพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น โดยบริษัทที่ก่อมลพิษเหล่านี้ ไม่ได้มีมาตรการหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการหลีกเลี่ยงวิกฤตนี้เลย แผนเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกทำให้โลกถูกขังอยู่ในวงจรหายนะของการปล่อยมลพิษที่สูงขึ้น และยังทำลายโอกาสที่จะคงอุณภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะดำเนินธุรกิจในแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราจะต้องบังคับให้บริษัทผู้สร้างมลพิษเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบ”

เอมม่า เพรสต์แลนด์ ผู้ประสานงานรณรงค์ระดับสากลจาก Break Free From Plastic กล่าวว่า “บริษัทที่สร้างมลพิษพลาสติกมากที่สุดในโลก ต่างก็อ้างว่าได้ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก แต่จริง ๆ แล้วพวกเขากลับยังผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างต่อเนื่อง เราไม่สามารถพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกแล้ว รวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาลที่จะถูกเปลี่ยนเป็นพลาสติกด้วย ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจะต้องเปิดเผยถึงพลาสติกฟุตพริ้นต์ของพวกเขา และต้องลดปริมาณลงให้เห็นชัดด้วยการจัดตั้งและดำเนินการด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และนำเสนอรูปแบบใหม่ของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ใช้ซ้ำได้และปราศจากพลาสติก โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค และยูนิลีเวอร์ จะต้องเป็นผู้นำในการหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแท้จริงให้ได้”

ไม่นานมานี้มีผลการศึกษาหลายชิ้น พบว่า บริษัทที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติมลพิษพลาสติก ก็มีส่วนร่วมในปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย มีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เนสท์เล่, มอนเดเลซ, ดานอน, ยูนิลีเวอร์, คอลเกต ปาล์มโอลีฟ, พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล และมาร์ส ต่างก็ซื้อบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตเม็ดพลาสติกจากบริษัทปิโตรเคมีที่มีชื่อเสียง เช่น อะรามโค, โททาล, เอ็กซอน และเชลล์

“แม้จะให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนให้ดีขึ้น แต่บริษัทผู้สร้างมลพิษเหล่านี้ก็อยู่ในรายชื่อแบรนด์ออดิททุก ๆ ปี มันชัดเจนแล้วว่าเราพึ่งพาบริษัทเหล่านี้ให้ทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต่าง ๆ จะต้องก้าวเข้ามาเพื่อออกนโยบายลดขยะและบังคับให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ การลดการผลิตพลาสติกเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะลดมลพิษพลาสติกได้อย่างแท้จริง จากการวิเคราะห์ของเราต่อการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศเพื่อบรรลุความตกลงปารีส (NDCs) แสดงให้เห็นว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ลงมือทำอย่างจริงจัง ปัจจุบันยังมีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลาสติก หมายความว่าต้องใช้งบประมาณถึง 13%  ของงบคาร์บอนที่จะลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593 และหากผู้นำโลกไม่จัดการอย่างจริงจังเพื่อลดการผลิตพลาสติก ก็ไม่มีทางที่เราจะควบคุมอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางสภาพอากาศได้” นีล แทนกริ ผู้อำนวยการด้านนโยบายและวิทยาศาสตร์ GAIA กล่าว

เกือบ 300 องค์กรใน 76 ประเทศได้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้แทน COP26 เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนเป้าหมายจากการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตพลาสติก ไปให้ความสนใจกับทางเลือกแบบขยะเป็นศูนย์ หรือซีโร่เวสต์แทน

ในปีนี้ การทำแบรนด์ออดิทของ Break Free From Plastic ซึ่งเป็นโครงการประจำปีที่ผู้คนจากทั่วโลกได้ลงมือทำร่วมกัน ทั้งการเก็บขยะ นับจำนวนและบันทึกข้อมูลแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่เจอในชุมชน โดยเก็บขยะพลาสติกได้ถึง 330,493 ชิ้น จาก 45 ประเทศ ร่วมกับ 440 องค์กร โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมมากกว่า 11,000 คนทั่วโลก 

ในประเทศไทย อาสาสมัครกรีนพีซได้ร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 โดยเก็บขยะได้ทั้งหมด 6,326 ชิ้น สามารถระบุแบรนด์ได้ 1,664 ชิ้น และไม่สามารถระบุแบรนด์ได้ 4,662 ชิ้น (เป็นขยะจำพวกถุงพลาสติกใส่อาหาร เศษพลาสติก โฟม ยางวง หลอด เป็นต้น) นอกจากนี้กรีนพีซยังได้ร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีเก็บและตรวจสอบขยะในครัวเรือน และได้รวบรวมอยู่ในรายงานแบรนด์ออดิทฉบับล่าสุดนี้ด้วย

Break Free From Plastic คือ การเคลื่อนไหวระดับโลกซึ่งมีวิสัยทัศน์เพื่ออนาคตที่ปราศจากมลพิษพลาสติก  นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนกันยายน 2559 องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 2,000 องค์กร และบุคคลกว่า 11,000 คน จากทั่วโลกได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติก 


หมายเหตุ

  1. ลิงก์รายงานการเก็บและสำรวจเบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกของปี 2564 ฉบับภาษาอังกฤษ (Brand Audit 2021)
  2. เครื่องมือการทำแบรนด์ออดิท
  3. ถาม-ตอบ
  4. BRANDED Volume III: Demanding Corporate Accountability for Plastic Pollution. (2020)
  5. Greenpeace USA report   “Climate Emergency Unpacked” เปิดเผยถึงการเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตสภาพภูมิาอากศและมลพิษพลาสติก
  6. รายงานของ GAIA “Wasted Opportunities: A review of international commitments for reducing plastic- and waste-sector GHG emissions” เปิดเผยถึงประเทศที่ตกลงที่จะลดไคลเมทฟุตพริ้นท์ แต่กลับไม่จัดการเพื่อลดพลาสติกและเพิ่มระบบซีโร่เวสต์ ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวข้องของขยะและภาวะโลกร้อน สามารถดูได้ที่ no-burn.org/cop26-plasticburns
  7. ผลการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit)จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561-2563

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

พรรณนภา พานิชเจริญ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทยอีเมล [email protected] โทร. 095-5853471