กรุงเทพฯ, 29 กรกฎาคม 2564 กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดผลรายงานวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม [1] ระบุมลพิษไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของไทยในรอบ 1 ปีหลังการล็อคดาวน์ครั้งแรกจากวิกฤตโควิด -19 [2]

การวิเคราะห์เน้นไปที่ 8 พื้นที่คือ กรุงเทพฯ สระบุรี อยุธยา เชียงใหม่ ลำปาง แม่เมาะ มาบตาพุด และกระบี่ โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคมถึงมิถุนายน) ของมลพิษไนโตรเจนออกไซด์ระหว่างปี 2563 และ 2564 โดยใช้ค่าเฉลี่ย(ของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์)ปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 เป็นฐานอ้างอิง

ข้อค้นพบหลักของการวิเคราะห์

  • เมื่อเปรียบเทียบเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 กับ เดือน มกราคม – มิถุนายน 2564 (โดยใช้ปี 2561-2562 เป็นปีฐาน) มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นในมาบตาพุดร้อยละ 24 สระบุรีร้อยละ 22 กรุงเทพฯร้อยละ 17 ลำปางร้อยละ 13 และโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ ร้อยละ8 ในขณะที่ เชียงใหม่และกระบี่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 5
  • เมื่อเปรียบเทียบปี 2561-2562 กับ ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับโควิด-19 พบว่า  มาตราการล็อกดาวน์และการเปลี่ยนแปลงระดับของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์นั้นไม่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ บางพื้นที่มีมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงในขณะที่มีการล็อคดาวน์แต่ในบางพื้นที่มีมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับเพิ่มสูงขึ้น

วริษา สี่หิรัญวงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลจากการวิเคราะห์ย้ำเตือนถึงมลพิษทางอากาศที่ยังคงเป็นวิกฤตท้าทายด้านสาธารณสุข และระบบพลังงานและการคมนาคมที่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เป็นเพียงผลพลอยได้ชั่วคราวจากการเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่าง ๆ รัฐบาลจะต้องมุ่งมั่นลดมลพิษทางอากาศต่อไปในระยะยาว เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น”

หมายเหตุ

[1] เครื่องมือวัด TROPOMI บนดาวเทียม Sentinel 5P ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (the European Space Agency) ได้จัดเก็บข้อมูลที่มีรายละเอียดและถูกต้องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ดาวเทียม Sentinel 5P มีวงโคจรผ่านทุกๆ จุดของผิวโลก วันละครั้งในช่วงเที่ยงวันตามเวลาท้องถิ่น ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel จะวัดปริมาณ NO2 ตลอดความสูงของชั้นบรรยากาศโทรโปสเฟียร์ (ตั้งแต่ระดับพื้นผิวดินสูงขึ้นไปราว 10 กิโลเมตร) นั่นหมายถึงว่า แม้ว่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ส่วนใหญ่จะพบใกล้พื้นผิวดิน ความเข้มข้นของก๊าซวัดในหน่วย Dobson units (DU) แบบเดียวกับที่ใช้วัดปริมาณ โอโซนในบรรยากาศ แม้ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาตัดสินความเข้มข้นจริงของมลพิษทางอากาศในระดับผิวดินได้ แต่ก็สามารถใช้ระบุว่า มีมลพิษทางอากาศในบริเวณใกล้พื้นผิวได้อย่างสมเหตุสมผล การเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ (ปริมาณที่วัดได้ผ่านดาวเทียม) มีแนวโน้มที่สอดคล้องอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นในบริเวณใกล้พื้นผิวของโลก โดยเฉพาะเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยในระยะเวลาที่ยาวขึ้น นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศมีความไวต่อสภาพอากาศ ดังนั้น ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจึงถูกนำเสนอเป็นค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นในระยะเวลา 6 เดือนและนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีปฏิทินอื่น ๆ โดยพิจารณาค่าเฉลี่ยตลอดเดือนเมษายนของแต่ละปีแยกออกจากกัน ทำการวิเคราะห์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในกราฟมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการเริ่มใช้มาตรการจำกัดการระบาดโควิด-19

[2] การวิเคราะห์ได้ใช้ข้อมูล Google’s mobility report for Thailand) และ the Oxford Covid-19 Government Response Tracker ในการระบุขอบเขตและผลกระทบจากมาตรการจำกัดการระบาดโควิด-19

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย 

อีเมล[email protected] โทร. 081 929 5747

คืนอากาศดีให้คนไทย

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย

มีส่วนร่วม