จดหมายเปิดผนึก

ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2564

ฟังเสียงประชาชน

ยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที

ในนามของประชาชนกว่า 4 แสนคนที่ลงนามผ่านแคมเปญออนไลน์ #NoCPTPP* เราต้องการเห็นความกล้าหาญทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐบาลในการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก โดยยุติการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP)อย่างถาวรในทันที

นอกจากเสียงที่เป็นพลังของประชาชน 4 แสนคน ปรากฏการณ์แชร์ 1.4 ล้านแฮชแท็ก #NoCPTPP สะท้อนถึงความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นต่อความล้มเหลวของผู้นำทางการเมืองในการบริหารประเทศ ขณะที่ผู้คนทั้งหลายเห็นแล้วว่า ระบอบการลงทุนและการค้าโลกภายใต้โลกาภิวัตน์สมัยใหม่ต้องแลกมาด้วยผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ต่อเกษตรกร ต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ ต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อนโยบายสาธารณะที่คุ้มครองประชาชน รวมทั้งต่อผู้ประกอบการรายย่อย

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวย้ำหลายวาระทั้งในประเทศไทยและเวทีโลกว่าจะให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs)ที่สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม พวกเราต้องการเห็นการลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เพียงลมปาก เพราะหากพิจารณาความตกลง CPTPP ตามกรอบแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว พบว่า อาจมีผลได้ในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่บ้างตามรายงานที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้าง อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตในรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎรว่ามีสมมติฐานที่ผิดและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่ผลเสียจะตกอยู่กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายเป้าหมาย ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ : 

ประการแรก – การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึง

(1) ตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

(2) เกษตรกรไม่มีสิทธิขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยไม่แบ่งผลกำไรให้แก่เจ้าของพันธุ์ซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพร

(3) สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหารเพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

(4) เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า (การประเมินของไบโอไทยเมื่อเทียบกับราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกาหลังจากเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991) และอาหารแพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น จากรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี

นี่คือการทำลายเป้าประสงค์ที่ 2.5 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 2 และเป้าประสงค์ 15.6 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG-15 ที่ต้องการความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้งไร่นาและในธรรมชาติ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรทางพันธุกรรมท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

ประการที่สอง – CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยราชการหรือหน่วยตรวจสอบที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบรับรอง และขาดรายละเอียดในเชิงข้อกำหนดของการจัดการของเสีย/ของหมดอายุเมื่อสินค้าเหล่านี้หมดอายุไป ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก นี่คือการสวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 12.4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 12 ที่ต้องการให้มีการกำจัดขยะอันตราย ขยะติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง

ประการที่สาม – CPTPP ยังมีบทว่าด้วยการลงทุนที่จะให้การคุ้มครองการลงทุนใน portfolio ของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนหรือเรียกว่า pre-establishment ซึ่งประเทศไทยไม่เคยคุ้มครองการลงทุนเหล่านี้มาก่อน การคุ้มครองการลงทุนที่กว้างขวางเช่นนี้ จะนำไปสู่โอกาสที่นักลงทุนต่างชาติเอกชนฟ้องร้องภาครัฐ ที่เรียกว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากภาษีประชาชน หรือขัดขวางนโยบายที่แม้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค แต่อาจไปขัดกับความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ให้ผลกระทบต่อธุรกิจต่างชาติ และมีผลในการจำกัดความสามารถในการควบคุมกฎหมาย/นโยบายที่ใช้ในการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้ นี่คือการสวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ

ประการสุดท้าย – หากรวมข้อกังวลของภาคสาธารณสุขและผู้บริโภค ข้อบทของ CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและการคุ้มครองการลงทุนนั้นส่งผลกระทบต่อเป้าประสงค์ที่ 1.4 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 1 ที่มุ่งเพิ่มการเข้าถึงบริการพื้นฐานของคนยากจน เป้าประสงค์ที่ 3.b ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 3 ที่มุ่งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคอีกด้วย

ดังนั้น พวกเรา ประชาชนชาวไทยกว่า 4 แสนคนที่ร่วมลงชื่อมา ณ ที่นี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องยุติการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP)อย่างถาวรในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ และเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุมตามที่ได้ประกาศต่อประชาชนไทยและประชาคมโลกไว้

_______

*Greenpeace Thailand and change.org