กรุงเทพฯ, 22 มิถุนายน 2564 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซถือบอลลูนเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร ที่มีรายชื่อของประชาชนกว่า 400,000 คนที่ร่วมลงชื่อรณรงค์ออนไลน์ #NoCPTPP [1] ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจยุติการเข้าร่วมความตกลง ที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

กรีนพีซ ประเทศไทยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมข้อเรียกร้องที่ชัดเจนจากประชาชนต่อรัฐบาลในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ โดยนายกรัฐมนตรีต้องยุติการเข้าร่วม CPTPP เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า 

“นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องยกเลิกการเข้าร่วม CPTPP อย่างถาวรในทันที เพราะได้ไม่คุ้มเสีย คนไทยต้องแบกต้นทุนสูง ความตกลง CPTPP เป็นเพียงแผนยุทธศาสตร์ที่ขยายอำนาจของบรรษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แลกกับการล่มสลายของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนในประเทศไทย”

หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก Trans Pacific Partnership(TPP) ในปี 2560 มีการรีแบรนด์ TPP ภายใต้ชื่อ CPTPP โดยรัฐภาคีที่เหลืออีก 11 ประเทศ (TPP-11) และเจรจากันใหม่นานกว่าหนึ่งปี ขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน ในที่สุดความตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2561 [2] รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมความตกลงนี้ แต่วิฤตแห่งความชอบธรรมของการบริหารงานซึ่งขยายเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด19[3]  ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำของไทยจะแลกผลกระทบอย่างมากและกว้างขวางที่จะตกอยู่กับประชาชนเพียง เพื่อเข้าร่วมความตกลงทางการค้านี้หรือ?

แม้รัฐบาลไทยตระหนักถึงเสียงต่อต้านของประชาชนในเรื่องนี้ ในเดือนมิถุนายน 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้ถอดถอนข้อเสนอการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลังจากมีความเคลื่อนไหวของสาธารณะชน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 หลังจากที่มีข่าวแพร่กระจายผ่านช่องทางออนไลน์ว่าข้อเสนอเข้าร่วม CPTPP ถูกนำ กลับมาพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปฎิกิริยาตอบและเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนยิ่งมีมากขึ้น ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แฮชแท็ก #NoCPTPP มีผู้แชร์ออกไปมากกว่า 1 ล้าน และมีประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Greenpeace Thailand และ Change.org รวมกันกว่า 400,000 รายชื่อ

กรีนพีซ ประเทศไทยทำงานรณรงค์ #NoCPTPP ในปี 2563 โดยหยิบยกประเด็น ความมั่นคงทางอาหาร- การเก็บและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่อาชญากรรม [4] ข้อมูลโดยมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร [5]

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“เมล็ดพันธุ์คือทรัพยากรธรรมชาติไม่ควรเป็นทรัพย์สินของบริษัท และการยอมรับ CPTPP คือการยอมให้อาหารของเราถูกยึดกุมโดยบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เพียงหยิบมือ”

หมายเหตุ

[1] ประชาชนกว่า 400,000 คนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านช่องทางออนไลน์ของ Greenpeace Thailand’s petition และ Change.org/NoCPTPP

[2] บทบาทของรัฐสภาในการจัดการความขัดแย้งกรณี CPTPP ในประเทศไทย https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=76488&filename=index และ https://www.whitecase.com/publications/alert/cptpp-enters-force-what-does-it-mean-global-trade 

[3]ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด – 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 นอกจากความเปราะบางที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงร้อยละ 5 ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลดลงที่รุนแรงมากที่สุดในภูมิภาค การส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งมีส่วนสำคัญต่อ GDP มากที่สุด ได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกอย่างกะทันหัน และการหยุดลงชั่วคราวของการประกอบกิจการธุรกิจภายในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

[4] เป็นที่ชัดเจนว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะเป็นผลกระทบที่ยาวนานและ ไม่อาจย้อนกลับเป็นดังเดิมได้ :(1) ตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาล ถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

(2) เกษตรกรไม่มีสิทธิขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยไม่แบ่งผลกำไรให้แก่เจ้าของพันธุ์ซึ่ง ผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพร (3) สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ของพืชพรรณธัญญาหารเพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ (4) เมล็ดพันธุ์ ในประเทศไทย ที่เราปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า (การประเมินของไบโอไทยเมื่อเทียบกับ ราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกาหลังจากเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991) และอาหารแพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น 

[5] https://www.biothai.org/node/1448

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

พรรณภา พานิชเจริญ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย 

โทร 095-5853471 อีเมล [email protected]