ปักกิ่ง, จีน, 31 มีนาคม 2564 – จากรายงานอย่างเป็นทางการโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เกี่ยวกับที่มาของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของโรคระบาด จากการติดต่อระหว่างสัตว์ป่าและมนุษย์ แสดงให้เห็นว่าการทำลายระบบนิเวศซึ่งเปรียบเหมือนการทำลายกันชนระหว่างสัตว์กับมนุษย์นั้นเป็นภัยคุกคามที่เสี่ยงต่อชีวิต โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ากันชนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปกป้องมนุษย์จากไวรัสที่อยู่ในสัตว์ป่า

อ่านรายงานฉบับเต็มขององค์การอนามัยโลกได้ที่นี่

ปัน เหวินจิง ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ด้านป่าไม้และมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า

“นักวิจัยมองเห็นถึงสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคระบาดที่มาจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น อันที่จริงไวรัสเหล่านี้มีชีวิตอยู่แยกจากมนุษย์โดยมีระบบนิเวศเป็นพื้นที่กันชน แต่มนุษย์เองที่เป็นผู้ทำลายพื้นที่กันชนทางนิเวศ ปีที่แล้วรัฐบาลจีนมีมาตรการเด็ดขาดด้วยการสั่งห้ามไม่ให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร อย่างไรก็ดียังคงต้องยกระดับมาตรการให้มากขึ้นทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ เพราะวิกฤตด้านสุขภาพที่เหมือนกับสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 จะเกิดบ่อยขึ้นหากเราล้มเหลวในการปกป้องระบบนิเวศทั่วโลก”

การทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติทำให้โรคระบาดแพร่จากพาหะไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์จะปกป้องมนุษย์จากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากยุง เพราะจะช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดไปยังสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน ทั้งนี้พื้นที่ที่มีสายพันธุ์นกที่หลากหลายแสดงให้เห็นว่ามีนกติดเชื้อไวรัสไนล์ตะวันตกน้อยกว่า เนื่องจากยุงซึ่งเป็นพาหะมีโอกาสเจอสิ่งมีชีวิตเป้าหมายที่เหมาะสมได้น้อยกว่านั่นเอง¹ ยังมีตัวอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับระดับการติดเชื้อโรคระบาดที่เพิ่มขึ้นเพราะการทำลายระบบนิเวศ เช่น ไข้เหลือง มาเลเรีย และโรคชากาส (Chagas) ในอเมริกา²

อัตราการทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด³ และสาเหตุหลักก็มาจากการบุกรุกเข้าไปในธรรมชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และความต้องการพื้นที่เกษตรกรรมจากธุรกิจเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรของมนุษย์

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP 15) จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ ที่ ยูนนาน จีน 

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล กล่าวว่า

“เพราะไวรัสไม่รู้จักคำว่าพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือกันของแต่ละประเทศจะเป็นกลยุทธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อกรกับวิกฤตโรคระบาดระดับโลก วิทยาศาสตร์ทำให้ทุกอย่างชัดเจนว่าการทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติกลายเป็นหนทางไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตอนนี้เป็นเวลาที่โลกจะต้องยกระดับและพุ่งเป้าหมายไปที่การปกป้องระบบนิเวศด้วยการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผู้นำระดับโลกและแต่ละประเทศมีหน้าที่ในการรับผิดชอบการแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้เรายังต้องทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆของมนุษย์จะไม่ผลักดันให้เกิดความเสี่ยงเช่นนี้อีก”

NOTES

  1. Ostfeld R (2009) Biodiversity loss and the rise of zoonotic pathogens, Clinical Microbiology and Infection, Volume 15, 40 – 43 accessed on 19/3/2020 from https://doi.org/10.1111/j.1469-0691.2008.02691.x
  2. Saker L, Lee K, Cannito B, Gilmore A, Campbell-Lendrum D (2004) Globalization and infectious diseases; a review of the linkages. World Health Organization, Geneva https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/68726/TDR_STR_SEB_ST_04.2.pdf  
  3. Mark Everard, Paul Johnston, David Santillo, Chad Staddon (2020) The role of ecosystems in mitigation and management of Covid-19 and other zoonoses. Environmental Science & Policy,Volume 111,7-17. https://doi.org/10.1016/j.envsci.2020.05.017

ติดต่อ

August Rick | Greenpeace East Asia, Beijing | [email protected]

Greenpeace International Press Desk, [email protected], phone: +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)