ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศว่ากำลังการหารือกับกระทรวงการคลังถึงมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการก่อขยะพลาสติก

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“มาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ และคำถามคือ มาตรการภาษีจูงใจผู้ประกอบการ ลดขยะพลาสติกนี้จะทำได้จริงมากน้อยเพียงใด? จะเป็นมาตรการสมัครใจหรือมาตรการที่มีผลบังคับในทางกฏหมาย? เพราะภาคประชาชนเองได้เรียกร้อง “มาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อม” โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมานานมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อกว่า 13 ปีที่แล้ว มีการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม” แต่ก็ไม่อาจต้านทานกับผลประโยชน์อุตสาหกรรมเพื่อออกมาเป็นกฏหมายได้ แม้ว่าผู้สนับสนุน ขับเคลื่อนและผลักดันทั้งในส่วนของภาคประชาสังคมและภาควิชาการจะตกผลึกในวิธีคิด หลักการ และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมแล้วก็ตาม”

พิชามญชุ์ รักรอด กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลไทยควรประยุกต์ประสบการณ์ของ 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการยกเลิกและการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก [1] กลไกดังกล่าวมีทั้งในทางกฏหมาย เช่น การยกเลิกใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งโดยอาจยกเลิกทั้งหมดหรือบางส่วน (ถุงพลาสติกที่หนาน้อยกว่า 30 ไมครอน) เป็นต้น และในทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมจากซัพพลายเออร์(ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า) เพื่อให้ค่าธรรมเนียมส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม การเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ค้าปลีกเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมเอง(ซึ่งไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค) และการเก็บค่าธรรมเนียม ณ จุดซื้อจากผู้บริโภค เป็นต้น ตลอดจนการมีกลไกทางกฏหมายและเศรษฐศาสตร์รวมกัน เช่น ผสมผสานระหว่างการยกเลิกใช้และการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก (ยกเลิกถุง พลาสติกบาง เก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกหนา) เป็นต้น”

หมายเหตุ[1] รายงาน “Single-use plastics : A roadmap for sustainability” ของ UNEP https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/25496/singleUsePlastic_sustainability.pdf?sequence=1&isAllowed=y