กรุงเทพฯ, 19 สิงหาคม 2560 – จากการที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) เห็นชอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาในการประชุมที่เร่งด่วน ปิดลับและปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

“เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิกฤตความชอบธรรมของระบบและกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจที่มีโจทย์อยู่แล้วว่า จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า สิ่งที่ชัดเจนคือ แม้ว่า คชก.จะเห็นชอบผ่านรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความบกพร่องในรายงาน EHIA จะถูกแก้ไขหมดแล้ว ซ้ำร้ายการประทับตราเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ต่ำเกินจริงของคชก. นั้นไม่มีภาระรับผิดใดๆ กับการให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA แม้ว่าจะยังมีข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน บกพร่องและไม่คำนึงถึงศักยภาพพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต ลักษณะเฉพาะทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น และความเปราะบางของระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล ตลอดจนทรัพยากรประมงที่จำเป็นต้องปกปักรักษาไว้  คชก. ยังไม่ต้องรับผิดชอบกับการไม่กำกับ ดูแล ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบกับการที่หน่วยงานรัฐและเจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

ผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ(Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลอง การเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) ระบุว่า หากมีการดําเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 จะเกิดขึ้นใน บริเวณทิศตะวันตกของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอันเป็นผลมาจากลักษณะการกระจายตัวของ PM2.5 ที่จะครอบคลุมทั่วคาบสมุทร โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกจะได้รับผลกระทบในวันท่ีไม่ค่อยมีลม ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เมื่อลมประจําทิศพัดจากทิศตะวันออกไป ยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงที่สภาวะอากาศย่ำแย่ อัตราการปล่อย PM2.5 จะสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปี แบบจำลอง GEOS-Chem ยังได้ประมาณว่า หากมีการดําเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะมีการตกสะสมของเถ้าถ่านหิน(เถ้าลอย)ในอากาศ ลงในพื้นที่ในราว 10-20 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร และการตกสะสมของฝนกรดในพื้นที่ราว 50 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร

การปล่อยมลพิษทางอากาศจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพายังมีผลต่อคุณภาพอากาศในทางตอนเหนือ ของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และตอนเหนือของมาเลเซียและก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ ข้ามพรมแดนประเทศอย่างมีนัยสําคัญ และหากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีการดำเนินการ โดยมีอายุการใช้งาน 40 ปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด หลอดลมและท่อลมรวมถึงโรคทางเดินหายใจและหัวใจเรื้อรังอื่นๆ ท่ีคาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ในราว 4,420 ราย (1)

“การที่ คชก. ให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ก็เท่ากับเป็นใบเบิกทางให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินในการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม กรีนพีซเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตัดสินใจยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในทันที และทบทวนกระบวนการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบ กระจายศูนย์ที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นเจตนารมย์หลักตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยให้คำมั่นในความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(2) รวมถึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(3)” นางสาวจริยา เสนพงศ์ กล่าวปิดท้าย

หมายเหตุ :

  1. www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/710503/FA-Coal-Power-Plant-Report-TH-Map-final.pdf
  2. power/th.pdfwww.un.or.th/globalgoals/th/the-goals และอ่านเพิ่มเติมใน www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25-sdgs/blog/59868
  3. https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/chem4-text.pdf มาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วม เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า “ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยอนุสัญญาข้อนี้มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย (emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหิน