สืบเนื่องจากกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ http://www.pcd.go.th ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะองค์กรรณรงค์อิสระด้านสิ่งแวดล้อมและทำงานรณรงค์ “ขออากาศดีคืนมา” มีความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้

(1) แม้ว่าในร่างแผนยุทธศาสตร์ระบุว่าได้จัดทำขึ้นภายใต้บริบทที่สอดคล้องและเป็นไปตาม นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals-SDGs) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามขานรับร่วมกับประเทศต่างๆ 193 ประเทศทั่วโลก แต่ “ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายการจัดการคุณภาพอากาศ” ที่ระบุไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์กลับละเลยตัวชี้วัดสำคัญที่ประเทศไทยยังอยู่ในระดับแย่ นั่นคือ “ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในพื้นที่เมือง” ทั้งที่ๆ สถานการณ์คุณภาพอากาศในส่วนของสารมลพิษทางอากาศหลัก(Criteria Pollutants) ที่ระบุไว้ในบทที่ 2 ระบุชัดเจนว่า “จากการติดตามตรวจสอบพบว่าปริมาณ PM2.5 ในหลายพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน”

(2) ประเด็นสำคัญที่ตกหล่นในร่างแผนยุทธศาสตร์นี้คือการเชื่อมโยงกฎหมาย นโยบาย กลไกการเแปลงแผนและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เข้ากับผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทาง อากาศ นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในร่างแผน ยุทธศาสตร์นั้นยังไม่ครอบคลุม ตัวอย่างเช่น มีการอ้างอิงงานวิจัยเพียงชิ้นเดียวซึ่งระบุว่า PM2.5 ลอสแองเจลิสมีสัดส่วนหลักมาจากภาคครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การด่วนสรุป

(3) มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี จะต้องคำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า “ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยอนุสัญญาข้อนี้มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หม้อนํ้าอุตสาหกรรมท่ี่ใช้ถ่านหิน กระบวนการถลุงแร่และอบแร่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะท่่ีไม่ใช่เหล็ก เตาเผาขยะและโรงงานผลิตปูนซีเมนต์

การที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ “อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน(Safe Air for All)” ที่ตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี กรีนพีซฯ มีข้อเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษดังต่อไปนี้

(1) ปรับเปลี่ยนดัชนีคุณภาพอากาศให้สอดคล้องและใกล้เคียงอย่างที่สุดกับข้อแนะนำ ขององค์การอนามัยโลก(WHO Guideline) โดยกำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เป็นสารมลพิษทางอากาศหลักในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ(จากเดิมที่มีสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิดคือ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง)

ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำของข้อมูลในการที่จะระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) ตามเป้าประสงค์ที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากมลพิษทางอากาศโดยมีตัวชี้วัดคือประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก(WHO)

(2) ปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปที่สอดคล้องและใกล้เคียงอย่างที่สุดกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO Guideline) เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด เมื่อเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ค่ามาตรฐานรายปีของ PM2.5 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2.5 เท่า ส่วนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ในขณะที่ค่ามาตรฐานรายปีของ PM10 ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับองค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM10 อยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับองค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

(3) เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดใน State of Global Air https://www.stateofglobalair.org/data ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558 และจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าจนถึง พ.ศ. 2554 มลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี

(4) กำหนดมาตรการการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษต้องรับรองว่าภายใต้วิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) นอกเหนือจากการควบคุมและป้องกันการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก ป่าไม้และพื้นที่สงวนแล้ว ต้องมีการติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละออง ขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอขอบคุณล่วงหน้าและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอต่อร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปีข้างต้นจะได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การปฎิบัติจริงเพื่อบรรลุประโยชน์ต่อประชาชนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

จริยา เสนพงศ์
ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม