ภูเก็ต, 12 มิถุนายน 2561– รายงานล่าสุดระบุว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% จะสร้างงานได้ราว 170,000 ตำแหน่งในอีก 30 ปีข้างหน้า รายงานฉบับนี้ [1] เป็นรายงานฉบับแรกที่คาดการณ์ถึงปริมาณการจ้างงานในประเทศไทยและประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง และแสดงให้เห็นว่าหากภาคพลังงานหมุนเวียนได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขยายตัวของการสร้างงานและช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ที่ภูเก็ตระหว่างการมาเยือนของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เรือรณรงค์ของกรีนพีซ ที่ทำงานรณรงค์ภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสร้างความรู้และทักษะให้แก่ชุมชน

“ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำภาคพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) โดยการมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนได้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม และการจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่า (Decent work) สำหรับทุกคน” ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

การจ้างงานโดยตรงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทยในปีพ.ศ. 2559 มีประมาณ 17,758 ตำแหน่งงาน โดยร้อยละ 80 ของตำแหน่งงานทั้งหมด จะอยู่ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (14,323 ตำแหน่งงาน) ตามมาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 2,588 ตำแหน่งงาน ก๊าซชีวภาพ 757 ตำแหน่งงาน และพลังงานลม 90 ตำแหน่งงาน ทั้งนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจำนวนเท่ากัน ประมาณการณ์การจ้างงานโดยตรงในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เท่ากับ 1,950 ตำแหน่งงาน/ปี เท่านั้น รายงานฉบับนี้ยังได้คาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินการตามสัญญาที่ผูกพันไว้จนครบถ้วน การจ้างงานโดยตรงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 27,000 ตำแหน่งงานภายในปี พ.ศ. 2562 ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เท่า เป็น 172,164 ตำแหน่งงานในปี พ.ศ. 2593 หากมีระบบพลังงานหมุนเวียน 100%

คณะผู้จัดทำการศึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ [3] โดยประเมินจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ การประเมินการณ์ถึงการจ้างงานตรงดูจากแผนงาน 4 สถานการณ์ของการผลิตไฟฟ้า นั่นคือ (ก) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เดินเครื่องแล้ว ในปี 2559 (ข) การผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาผูกพันไว้แล้ว หากมีการดำเนินการจนครบถ้วน ในปี 2562 (ค) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย 100% ในปี 2593 และ (ง) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ของประเทศในลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ (ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในปี 2593 [4]

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

“การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ในขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหินไม่อาจทำได้ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการคาดการณ์การจ้างงานเข้าไปในกระบวนการวางแผนด้านพลังงาน โดยเฉพาะในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจที่ดีขึ้น รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนศักยภาพของบุคคล การอบรม การทำวิจัย และการพัฒนา รวมถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย เพื่อเกื้อหนุนภาคพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม”

“เป็นที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดผลประโยชน์หลายด้านทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนหลากหลายขนาดสามารถสร้างงานที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นหลายแสนตำแหน่งในประเทศ ทำให้ราคาไฟฟ้าเหมาะสมต่อผู้ใช้ เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่ม GDP และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในถ่านหิน” จริยากล่าวสรุป

หมายเหตุ

[1] สามารถดาวน์โหลดรายงานได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Renewable-Energy-Job-Creation-in-Thailand
[2] รายงานฉบับนี้ยังได้ศึกษาการจ้างงานโดยอ้อมในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟท็อป การผลิตวัตถุดิบสำหรับพลังงานชีวมวลและอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำระบบเผาไหม้สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย  อุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ และการพัฒนาระบบสายส่งและระบบส่งไฟฟ้าซึ่งรวมกันแล้วเป็นอีกหลายพันตำแหน่ง
[3] รายงานนี้จัดทำขึ้นโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมนึก จงมีวศิน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.อุษา อ้นทอง หน่วยสาธิตและวิจัยก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ, นายสมเจตน์ ไชยลาภ  ศูนย์วิจัยพลังงานยั่งยืนเพื่อท้องถิ่น จังหวัดกาฬสินธุ์, ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์, นายศุภกิจ นันทะวรการ และนางสาวฐิติเวทยา ใหญ่กระโทก มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
[4] วิสัยทัศน์ภาคพลังงานก้าวสู่ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2593 https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/a1682a46-a1682a46-thailand_psv_executive_summary_th_1.pdf[5] http://thaiembdc.org/2017/07/03/thailand-raises-renewable-energy-target/