งานรณรงค์ของกรีนพีซนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

กรุงเทพฯ, 11 กรกฎาคม 2560 – บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้คำมั่นต่อมาตรการที่จะขจัดการประมงผิดกฎหมาย (illegal fishing) และการประมงเกินขนาด (overfishing) และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนับแสนคนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

ข้อตกลงใหม่ของไทยยูเนี่ยนเป็นการดำเนินการต่อยอดจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® รวมถึงความพยายามในการสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านการประมงที่ดีที่สุด (best practice fisheries) ปรับปรุงด้านการทำประมงอื่นๆ ลดการปฏิบัติที่ผิดกฏหมายและไร้จริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และนำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่มาจากการทำประมงที่มีความรับผิดชอบออกสู่ตลาดหลักของโลก

การประกาศในวันนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์ของกรีนพีซทั่วโลก

บันนี แมคดิอาร์มิด ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล กล่าวว่า

“นับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่เพื่อมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตในทะเลและเพื่อสิทธิของแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล หากไทยยูเนี่ยนดำเนินการปฎิรูปแผนงานเหล่านี้ จะเป็นแรงกดดันภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลอื่นๆ ให้แสดงความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ถึงเวลาแล้วที่บริษัทอื่นๆจะเดินหน้าและแสดงภาวะผู้นำแบบเดียวกัน”

ไทยยูเนี่ยนได้ตกลงต่อแผนการปฏิรูปรวมถึงความมุ่งมั่นที่จะ

  • ลดจำนวนอุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs) ที่ใช้อยู่ทั่วโลกในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2563 ในขณะที่ เพิ่มผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่มาจากการประมงที่ไม่ใช้อุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs)ขึ้นสองเท่าเข้าสู่ตลาดทั่วโลก ในเวลาเดียวกัน อุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs)เป็นวัสดุลอยน้ำที่สร้างระบบนิเวศขนาดเล็ก และส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำพลอยได้ อย่างเช่น ฉลาม เต่าทะเล และปลาทูน่าวัยอ่อน
  • ขยายระยะเวลาห้ามการขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล (at-sea transshipment)ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดจําหน่ายวัตถุดิบ(suppliers)จะปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่อย่างเคร่งครัด  การขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล(at-sea transshipment)ช่วยให้เรือประมงออกเรือสู่ทะเลแต่ละครั้งเป็นเวลาหลายเดือนหรือนับปี และเปิดช่องให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย
  • รับรองว่าจะมีผู้สังเกตการณ์อิสระบนกองเรือประมงเบ็ดราว (longline) ที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล(at-sea transshipment) ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานประมงที่อาจเกิดขึ้น และรับรองว่าจะมีการสังเกตการณ์โดยบุคคลหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกองเรือประมงเบ็ดราวทูน่าที่จัดส่งให้บริษัททั้งหมด
  • พัฒนาแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมกว้างขวางสำหรับกองเรือประมงทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานเพื่อเสริม เข้ากับจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน (Business Ethics and Labor Code of Conduct) ฉบับปัจจุบันของบริษัท ทั้งนี้เพื่อช่วยรับรองว่าคนงานบนเรือประมงจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและถูกต้อง และสามารถเข้าถึงผลการตรวจติดตามที่เป็นอิสระโดยองค์กรผู้ให้การรับรอง(third party independent audits)ได้ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจนเพื่อรับรองว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้
  • ปรับเปลี่ยนสัดส่วนที่มีนัยสำคัญของปลาทูน่าที่มาจากการประมงเบ็ดราว(longline caught tuna)เป็นปลาทูน่าที่มาจากการประมงด้วยเบ็ดตวัด (pole and line or troll-caught tuna) ภายในปี พ.ศ.2563 และดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างเข้มแข็งเพื่อลดการการจับสัตว์น้ำพลอยได้(bycatch) กองเรือประมงเบ็ดราวทูน่ามีความเสี่ยงในการจับสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น นกทะเล เต่าทะเลและฉลาม
  • มุ่งสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบดิจิตอล(Digital Traceability) อย่างเต็มที่ โดยสาธารณชนสามารถติดตามได้ว่าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป่องของตนมาจากเรือประมงลำใดและใช้วิธีการประมงแบบใด

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า

“ในฐานะของบริษัท อาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไทยยูเนี่ยนยอมรับบทบาทความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างเต็มที่  โดยดำเนินการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนSeaChange® ของเราต่อไป ให้สอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกับกรีนพีซและวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันในการปกป้องทะเลเพื่อคนรุ่นหลัง”

กรีนพีซและไทยยูเนี่ยนได้ตกลงที่จะประชุมกันทุก 6 เดือนเพื่อประเมินความก้าวหน้าและการดำเนินการของบริษัท โดยในสิ้นปี พ.ศ. 2561 จะมีการตรวจสอบโดยบุคคลที่สามถึงความคืบหน้าของคำมั่นสัญญาดังกล่าว

“ไทยยูเนี่ยนได้กำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อจัดการกับการทำประมงทำลายล้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชน  และการปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรมการประกาศครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งต่อผู้คนนับแสนคนจากทั่วโลกที่ต้องการให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้” แมคดิอาร์มิด กล่าวต่อ

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ปลาทูน่าที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ได้แก่ Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Mareblu และ Sealect ผู้คนเกือบ 700,000 คนทั่วโลกเรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนให้คำมั่นที่จะจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องที่มีความยั่งยืนและมีจริยธรรมมากขึ้น หลังจากการประกาศในวันนี้ กรีนพีซ เครือข่ายต่างๆและผู้ตรวจสอบอิสระจะติดตามความคืบหน้าของไทยยูเนี่ยน เพื่อให้มั่นใจว่าคำมั่นเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปแผนงานของไทยยูเนี่ยนสามารถดูได้ ที่นี่

Thai Union’s package of reforms, please click here