นิวยอร์ก, 13 กรกฎาคม 2563- กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา และองค์กรผู้สังเกตการณ์วิชาชีพประมง (Association for Professional Observers – APO) ยื่นข้อเรียกร้องให้สหประชาชาติตรวจสอบกรณีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงชาวคิริบาสเสียชีวิต ซึ่งต้องสงสัยว่าถูกฆาตกรรมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  เป้าหมายคือเพื่อให้แน่ใจว่าการสืบสวนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน [1]

ข้อเรียกร้องดังกล่าว เกิดขึ้นในนามครอบครัวของนายเอริทารา อาติ ไคเอรัว ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงที่เสียชีวิต ยื่นไปยังแมรี ลอว์ลอร์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เพิ่งรับตำแหน่ง โดยเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง และหาผู้รับผิดชอบต่อการตายของนายไคเอรัว มาดำเนินคดี

“ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง เป็นผู้ปกป้องทรัพยากรของชุมชนที่เปราะบาง รวมถึงพิทักษ์สิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ หากแต่บริษัท รัฐบาล และเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ กลับไม่สามารถดูแลและรับรองสวัสดิภาพความปลอดภัยให้กับคนเหล่านี้ 

จากการข่มขู่ คุกคาม หรือร้ายแรงถึงขั้นความปลอดภัยในชีวิตได้ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ แมรี ลอว์ลอร์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ เข้าตรวจสอบการเสียชีวิตของนายเอริทารา อาติ ไคเอรัว เพื่อรับประกันว่าการสืบสวนจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล  และครอบครัวของนายไคเอรัว จะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่และเหมาะสมจากผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย” แอนดี้ เชิน ที่ปรึกษาอาวุโสงานรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา กล่าว

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 หน่วยงานประมงของไต้หวันได้รับรายงานจากลูกเรือประมงว่า นายไคเอรัวเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนเรือชื่อ Win Far No.636  ซึ่งเป็นเรือประมงทูน่าแบบอวนล้อม สัญชาติไต้หวัน ของบริษัท Kuo Hsiung Fishery [2] เอกสารราชการระบุว่า Win Far No.636 เป็นเรือหลักที่ส่งอาหารทะเลให้กับบริษัทเอฟซีเอฟ (FCF) ของไต้หวัน หนึ่งในสามบริษัทผู้จัดหาปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นบริษัทแม่ของบัมเบิลบีฟู้ดส์ (Bumble Bee Foods) แบรนด์ทูน่ากระป๋องอันดับต้นในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่าบริษัทเอฟซีเอฟมีส่วนเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทเอฟซีเอฟระบุว่ายังไม่ขอออกความเห็นใด ๆ ต่อกรณีเสียชีวิตบนเรือ Win Far No.636 จนกว่าจะเห็นผลการสืบสวนอย่างเป็นทางการ

นายไคเอรัว ทำงานในตำแหน่งผู้สังเกตการณ์ระดับภูมิภาค ของคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western Central Pacific Fisheries Commissio – WCPFC) หนึ่งในองค์การบริหารจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization; RFMO) จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการประมงฯ ทีมผู้สังเกตการณ์เคยรายงานหลายครั้งว่าถูกข่มขู่ และถูกลูกเรือร้องขอไม่ให้รายงานสิ่งที่พบเห็น มีองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาคเพียง 4 องค์กรจาก 17 องค์กรทั่วโลก ที่มีมาตรการรองรับหากผู้สังเกตการณ์เหล่านี้เสียชีวิตหรือสูญหาย

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 14 ราย โดยไม่เคยมีการตั้งทีมสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง แม้คณะกรรมาธิการประมงฯ ระบุในเอกสารว่าจะคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้สังเกตการณ์ แต่ความเป็นจริงที่พบ ก็คือ ยังมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและสูญหายอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ เพราะรัฐเจ้าของธง (ประเทศเจ้าของสัญชาติเรือประมง) ไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนองค์การบริหารจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาคก็ขาดการบังคับใช้กฎหมาย และความโปร่งใส อีกเรื่องที่น่าสลดก็คือ ครอบครัวของเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในภูมิภาค” เอลิซาเบธ มิทเชลล์ ผู้อำนวยการองค์กรผู้สังเกตการณ์วิชาชีพประมงกล่าว [4] 

กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา และองค์กรผู้สังเกตการณ์วิชาชีพประมง  ยังมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมต่อผู้รายงานพิเศษฯ ให้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตามที่บัญญัติในกฎขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค กับประเทศต่างๆ รวมถึง เร่งสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย หากชาติใดไม่ปฏิบัติตาม จะต้องขึ้นทะเบียนว่าเรือประมงสัญชาตินั้นไม่ปลอดภัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ และตัดสิทธิการร่วมเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ระดับภูมิภาคขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค [5]

ภาพประกอบบทความข่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://media.greenpeace.org/shoot/27MDHUV5X3L

หมายเหตุ

[1] ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง คือรูปแบบหนึ่งของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่พิทักษ์ด้าน “สิทธิทางสิ่งแวดล้อม”  ผ่านการตรวจและสังเกตการณ์บนเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำ รวมถึงตรวจสอบปริมาณการจับสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน และการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์ต่าง ๆ

[2] จากข้อมูลที่ครอบครัวของนายไคเอรัว ได้รับจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ ร่างของนายไคเอรัวถูกพบบนพื้นในห้องพักของเขา พบคราบเลือดบริเวณหน้า คอ และอก มีรอยฟกช้ำที่อกและคอ สาเหตุการการเสียชีวิตคาดว่าเกิดจากถูกตีเข้าบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง ส่งผลให้สมองกระทบกระเทือนสาหัส

[3] รายงาน Misery at Sea โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออก 

[4] ข้อมูลการเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือเหตุการณ์ที่เกือบจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุของผู้สังเกตการณ์ 

[5] กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา และองค์กรผู้สังเกตการณ์วิชาชีพประมง ผลักดันให้ประเทศสมาชิกขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค ทำตามแนวปฏิบัติใน “พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค.ศ. 2016)” นโยบายของประเทศสมาชิกจะต้องได้รับการประเมินจากองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค บทลงโทษของประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม คือการตัดสิทธิการร่วมทีมผู้สังเกตการณ์ระดับภูมิภาคขององค์การบริหารจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาค ที่ผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกรณีนั้นสังกัด

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม