กรุงเทพฯ, 13 ธันวาคม 2561- จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)มีการประชุมวาระเพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กเมื่อวันศุกร์ที่ 7ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่มวกเหล็กได้ทำหนังสือและข้อมูลคัดค้านการอนุมัติโครงการฯดังกล่าวต่อ กกพ.มาโดยตลอด

นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การพิจารณาผ่านความเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กสะท้อนให้เห็นการเพิกเฉยของหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานของภาครัฐต่อความไม่ชอบธรรมและการละเมิดสิทธิของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่เกิดขึ้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กมีหลักฐานชัดเจนถึงการละเมิดมาตรการการบังคับใช้ทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่ง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ผ่านความเห็นชอบโครงการฯ ทั้งๆที่เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA จะผ่านความเห็นชอบของกกพ.และพร้อมเดินเครื่องหลังจากที่กกพ.พิจารณาอนุมัติ การกระทำดังกล่าวของกกพ.จึงถือเสมือนว่า การทำรายงานEHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กไร้ประโยชน์ และการกระทำดังกล่าวของกกพ.ถือเป็นการเพิกเฉยต่อกระบวนการการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นการพิจารณาความเหมาะสมของที่ตั้งโครงการและการกำกับดูแลมาตรการทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กไม่ครอบคลุมความจริงของความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากมลพิษและการสะสมมลพิษระยะยาวที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ทั้งจากมลพิษอากาศ การปนเปื้อนในดินและน้ำ รวมทั้งการสะสมในห่วงโซ่อาหารจากการเลี้ยงโคนม เกษตรกรรมและท่องเที่ยวจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอย่างน้อยปีละกว่า6แสนตันเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อีกทั้งรายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่มีการศึกษาผลกระทบและความเสี่ยงต่อแหล่งผลิตน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์นมในประเทศและการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา และกัมพูชา

“มวกเหล็กซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำนมดิบ แหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และพื้นที่เกษตรกรรมที่สร้างเศรษฐกิจในชุมชนปีละกว่า 7,000 ล้านบาท กำลังจะกลายเป็น เขตสังเวยสารพิษจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้น และต้นทุน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจึงเป็นภาระที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายตลอดชีวิต” จริยา เสนพงศ์ กล่าวปิดท้าย

หมายเหตุ

  1. รายชื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ผ่านความเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็ก
  2. รายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ขนาด 150 เมกะวัตต์
  3. วิถีชีวิตกับธรรมชาติกับปรากฎการณ์ที่มวกเหล็ก&สระบุรี กรณีศึกษาวิถีชีวิตบนผืนป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำมวกเหล็กกับผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินและมลภาวะ, เครือข่ายชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก
  4. สำรองไฟฟ้าล้น ต้องแก้แผน PDP ด่วน