กรีนพีซ ประเทศไทย เผยรายงานวิเคราะห์ล่าสุด “ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน” ที่เผยถึงบทบาทของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เชื่อมโยงกับการก่อหมอกควันพิษข้ามพรมแดนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมระหว่างปี 2558-2562 พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด

รัฐฉาน, เมียนมา, 22 ธันวาคม 2562 – การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรในเมืองตองจี  © Thitipan Pattanamongkol / Sarakadee magazine

ระบบเกษตรและอาหารเชิงอุตสาหกรรมกำลังคุกคามสุขภาวะของคนไทย และการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงผืนป่า และหมอกควันจากมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน โดยรายงานการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี พ.ศ.2558-2562 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา) ได้นำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจากเครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซา และดาวเทียมระบบ VIIRS ติดตามจุดความร้อน ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ และพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา มีข้อค้นพบหลักดังนี้ 

  • ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีสถานการณ์การปลูกข้าวโพดรายปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2560 จากนั้นลดลงจนถึงปี พ.ศ.2562 ในขณะที่รัฐฉานของเมียนมามีสถานการณ์ตรงกันข้ามกับประเทศไทย กล่าวคือ มีการปลูกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2561 จากนั้นเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ส่วนพื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว มีสถานการณ์การปลูกที่ไม่แน่นอนโดยพบพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลงและเพิ่มขึ้นปีเว้นปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2562
  • สัดส่วนของร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดรวมทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.69 ในปี พ.ศ. 2558 เป็นร้อยละ 24.4 ในปี พ.ศ. 2562 สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในช่วงเวลาเดียวกัน (พ.ศ. 2558-2562) จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมสรุปได้ว่า จุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดคิดเป็นร้อยละ 30 ของจุดความร้อนทั้งหมด
  • ในภาพรวมความสัมพันธ์หว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงพบว่า จุดความร้อนที่ตรวจพบและอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้น พบมากที่สุดในเดือนเมษายน เกือบทุกปี ยกเว้นปี พ.ศ. 2558 ที่พบมากในเดือนมีนาคม โดยจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดช่วงเดือนเมษายนของทั้ง 3 ประเทศรวมกัน ประมาณ 17,000 จุด โดยแบ่งเป็นจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย พบประมาณเดือนละ 4,000 จุด ส่วนรัฐฉานของเมียนมาพบประมาณเดือนละ 7,000 จุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา และสปป.ลาว มีจุดความร้อนสูงสุดราวเดือนละ 10,000 จุด 
  • ปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากกว่าทุกปี คือ ประมาณ 50,000 จุด ในขณะที่ปีอื่น ๆ พบประมาณ 25,000 จุด

บริบทการขยายตัวของตลาดข้าวโพดอาหารสัตว์ ประกอบกับการสะสมของจุดความร้อนและการเผาที่เชื่อมโยงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เตรียมพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกในฤดูถัดไปนั้นทำให้ช่วงปลายมีนาคมถึงกลางเมษายนของทุกปี พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งสามประเทศต้องจมอยู่ภายใต้หมอกควันพิษที่เป็นวิกฤตร้ายแรงต่อสุขภาพ มาตรการการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่เคร่งครัดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่บรรษัทของไทยหันไปลงทุนนอกเขตพรมแดนประเทศไทยมากขึ้น เพื่อชดเชยหรือเพิ่มผลผลิตที่อาจขาดหายไปจากที่เคยผลิตได้ในไทย โดยราวปี พ.ศ. 2559 มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร และการประกันราคา ด้วยหลักฐานกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในการขายผลิต เกิดปัญหาผลผลิตตกค้าง โดยมาตรการที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับจุดความร้อนในประเทศไทยที่ลดลงในปี พ.ศ. 2559 และลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งพุ่งสูงกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2562 (ประมาณ 14,000 จุดในเดือนเมษายน) ในขณะที่จุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน การขยับขยายพื้นที่การผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านจึงอาจเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดโลก

กรีนพีซมีข้อเสนอต่อภาครัฐและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ดังนี้คือการเพิ่มและปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสและมาตรการทางกฎหมายที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงผืนป่าและก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตั้งแต่การปลูกและรับซื้อพืชอาหารสัตว์ การทำปศุสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูป และสามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว คือทางออกที่ทั้งทางรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังนี้อย่างเร่งด่วน และหันมาสนับสนุนนโยบายและเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างอาหารของเราได้ด้วยวิธีการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในภูมิภาค