กรุงไทเป, ไต้หวัน, 19 มีนาคม 2563 – รายงานการสืบสวนล่าสุดของกรีนพีซเอเชียตะวันออกพบการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษชน​ในกองเรือประมงของไต้หวัน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีบริษัทผู้ค้าอาหารทะเลอันดับต้นของโลกเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การล่าหูฉลาม การบังคับใช้แรงงาน และการใช้เรือขนถ่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย  [1]  ทั้งนี้จากข้อมูลลูกเรือประมงซึ่งเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานบังคับพบว่า มีความเชื่อมโยงกับมีเรืออย่างน้อยสองลำที่หาปลาส่งให้กับบริษัท ฟงชุนฟอร์โมซ่า หรือเอฟซีเอฟ (FCF)  โดยล่าสุด บริษัทดังกล่าวเพิ่งซื้อกิจการบัมเบิลบี (Bumble Bee) บริษัทอาหารทะเลอันดับต้นในสหรัฐอเมริกา

“หลังจากกรีนพีซและองค์กรอื่นๆ ได้เปิดโปงเรื่องการทำประมงที่ไม่ชอบมาพากลอย่างต่อเนื่อง ไต้หวันก็ถูกองค์กรระหว่างประเทศตรวจสอบเกี่ยวกับวิธีการและกฎระเบียบด้านการประมงที่ขาดประสิทธิภาพ” [2] เพิร์ล เฉิน ผู้ประสานงานรณรงค์ ประจำกรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว “ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไต้หวันได้เริ่มแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เราพบหลักฐานใหม่ว่าทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนไม่สามารถปกป้อง ละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกเรือต่างชาติที่ทำงานบนเรือประมงในทะเลนอกน่านน้ำได้ จากข้อมูลพบว่า สภาพความเป็นอยู่ของลูกเรือประมงเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไม่ได้มาตรฐานสากลเรื่องการห้ามใช้แรงงานบังคับ แต่ยังละเมิดกฎหมายของไต้หวันเองด้วย”

ในรายงานเรื่อง “ทะเลนอกน่านน้ำ: แรงงานบังคับและการประมงที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน” เจ้าหน้าที่ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกได้สัมภาษณ์ลูกเรือประมงต่างชาติ ซึ่ง ทั้งหมดเป็นชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานอยู่บนเรือประมงซึ่งชักธงประเทศไต้หวัน  รวมถึงได้รวบรวมเอกสารสัญญาจ้างงานและค่าตอบแทนของลูกเรือประมงมาประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับการใช้ระบบการระบุตัวตนแบบอัตโนมัติ (Automatic Identification System -AIS) เพื่อระบุเรือประมง เพื่อสร้างแผนที่ความเชื่อมโยงถึงท่าเทียบเรือและจุดที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล (Transshipment) ขึ้น

จากการสัมภาษณ์แรงงาน พบสถานการณ์ที่ตรงกับตัวชี้วัดเรื่องการใช้แรงงานบังคับ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  มากถึง 6 ใน 11 ข้อ ไม่ว่าจะเป็น การบังคับให้ทำงานล่วงเวลา การไม่จ่ายค่าแรง และการยึดเอกสารประจำตัวของ ลูกเรือประมงรายหนึ่ง ซึ่งทำงานบนเรือสัญชาติไต้หวันชื่อ “longliner A”

“ถ้าเราจับปลาได้ เราก็อาจได้รับอนุญาตให้นอนได้ประมาณห้าชั่วโมง แต่ถ้าจับปลาไม่ได้เลย ก็แปลว่าเราต้องทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มากกว่า 34 ชั่วโมงเลยทีเดียว ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากมีเวลาทำงานและเวลาพักที่สมดุลมากกว่านี้ ที่เหมาะสมกับขีดความสามารถของร่างกายแบบเดียวกับที่คนทำงานบนบกเขาทำกัน” [4]

ข้อมูลจากลูกเรือประมงยังเผยให้เห็นถึงการทำประมง เพื่อล่าหูฉลาม และการขนถ่ายแรงงาน​ที่ผิดกฎหมายอีกด้วย โดยลูกเรือคนหนึ่งเล่าว่า

“เราเก็บแค่หู (ครีบ) ฉลามเท่านั้นและทิ้งส่วนที่เหลือทั้งหมด เดือนก่อน ผมยังตากแห้งหูฉลามอยู่เลย แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราเห็นเรือลาดตระเวนของอเมริกันอยู่ใกล้ๆ  กัปตันเรือกลัวมากและบอกให้ผมเอาหูฉลามทั้งหมดไปซ่อน เพื่อไม่ให้คนอเมริกันเห็น” [5]

ข้อมูลจากลูกเรือประมงอย่างน้อย 2 ลำสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อยู่ในอุตสาหกรรมประมงของไต้หวัน และยังสามารถยืนยันได้ว่าปลาที่จับได้ถูกป้อนให้กับบริษัทเอฟซีเอฟ ของไต้หวัน

“มีหลายเหตุผลด้วยกันที่ผู้บริโภคควรต้องใส่ใจว่า ทำไมอาหารทะเลที่ซื้อ มาจากวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และปนเปื้อนการใช้แรงงานทาสหรือเปล่า เพราะเราพบว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่ง บริษัทอาหารทะเลรายใหญ่อย่างเอฟซีเอฟ มีหน้าที่ต้องเป็นผู้นำและส่งเสริมการปฏิรูปการประมงทั่วโลก” เพิร์ล เฉินย้ำ

ทั้งนี้ เอฟซีเอฟได้รับจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสามของผู้ค้าปลาทูน่ารายใหญ่ของโลก ตลาดหลักของเอฟซีเอฟครอบคลุมทั้งในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลในสหรัฐอเมริกา มีคำตัดสินอนุญาตให้เอฟซีเอฟ สามารถซื้อกิจการของบริษัทบัมเบิลบีฟู้ดส์ บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ได้ เอกสารของศาลระบุว่า เอฟซีเอฟเป็นบริษัทคู่ค้าหลักที่จัดหาปลาทูน่าป้อนให้กับบริษัทบัมเบิลบี โดยเป็นจำนวนปลาทูน่าสายพันธุ์อัลบาคอร์มากกว่า 95% และทูน่าสายพันธุ์อื่นอีก 70 % [6]

กรีนพีซเอเชียตะวันออก เรียกร้องให้บริษัทเอฟซีเอฟ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินทำธุรกิจให้เป็นในเชิงรุกและสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเน้นที่การสร้างกลไกลด้านการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่โปร่งใส ปราศจากวัตถุดิบที่มาจากการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล และยึดถือมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน อย่างเคร่งครัด [7]

ดูภาพถ่ายและวิดีโอ ที่นี่

ดูรายงาน “ทะเลนอกน่านน้ำ: แรงงานบังคับและการประมงที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน”” ที่นี่

หมายเหตุ:

[1] การขนถ่ายระหว่างเรือ (Transhipment) หมายถึงการขนถ่ายสัตว์น้ำจากเรือประมงไปยังเรือแช่แข็ง โดยกิจกรรมดังกล่าว เชื่อมโยงกับการทำประมงมากเกินไปและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานกลางทะเล ดูข้อมูลเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าประมงในทะเลเพิ่มเติมได้ที่รายงานของกรีนพีซสากล, Fishy Business

[2] กรีนพีซเอเชียตะวันออก, 2559, ผลิตในไต้หวัน ; กรีนพีซเอเชียตะวันออก, 2561, ความทุกข์ยากในท้องทะเล ; มูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม, 2562 เลือดกับน้ำ: การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก

[3] ดูหัวข้อ“ 4.1.3 ความเป็นไปได้ในการละเมิดมาตรฐานสากลและกฎหมายแรงงานไต้หวัน” ในรายงานเรื่องสายน้ำที่แปรปรวน​ (Choppy Waters)

 [4] ดูหัวข้อ“ 4.1.2 รายงานสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม”

[5] ดู “ 4.2.1 คำให้การของลูกเรืออพยพ: การล่าหูฉลามและการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล”

[6] คำแถลงการณ์ของ Kent McNeil เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวFirst-Day  (First-Day Motions)  บทที่​ 11​ (2562)

[7] ดู “ข้อ 6 ความรับผิดชอบของบริษัทอาหารทะเล”

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม