โตเกียว, ญี่ปุ่น 9 มีนาคม 2563 – การสำรวจการปนเปื้อนรังสีนิวเคลียร์รังสีแบบเชิงลึกครั้งล่าสุดของกรีนพีซญี่ปุ่นพบหลักฐานการปนเปื้อนซ้ำจากพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 (ฮาจิบิส) และไต้ฝุ่นหมายเลข 21 (บัวลอย) ของปีพ.ศ. 2562 ซึ่งปลดปล่อยรังสีซีเซียมลงมาจากภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ในจังหวัดฟุกุชิมะ

การสำรวจในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ระยะเวลากว่าสามสัปดาห์พบรังสีระดับเข้มข้นทั่วทั้งจังหวัดฟุกุชิมะ พื้นที่เหล่านี้บางแห่งเคยเป็นพื้นที่ที่เคยตรวจพบรังสีนิวเคลียร์ระดับสูงกว่าปีก่อนๆ หน้า บางพื้นที่ระดับรังสีนิวเคลียร์เคยลดลง และบางพื้นที่เคยมีการปนเปื้อนซ้ำ

การสำรวจได้ระบุจุดเสี่ยง (Hotspots) ทั่วจังหวัดฟุกุชิมะ รวมถึงเขตเมืองฟุกุชิมะ เหตุฉุกเฉินทางรังสีที่ซับซ้อนและกำลังดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดฟุกุชิมะ ขัดแย้งกับคำอธิบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยังคงผลักดันการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง ฟุกุชิมะกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว และประสิทธิภาพของโครงการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนขนาดใหญ่

พายุไต้ฝุ่นหมายเลขที่ 19 และ 21 ได้กักเก็บน้ำฝนไว้ปริมาณมากทั่วทั้งญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดฟุกุชิมะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงผลกระทบของฝนตกหนัก ที่นำไปสู่การเคลื่อนย้ายรังสีจากป่าภูเขาลงสู่ระบบแม่น้ำ

“ผลการสำรวจรังสีในปีพ.ศ. 2562 ของเราแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของการเคลื่อนที่ของนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) อันซับซ้อนและต่อเนื่อง และการปนเปื้อนซ้ำในพื้นที่จังหวัดฟุกุชิมะ พื้นที่ป่าไม้ในเขตภูเขาของจังหวัดฟุกุชิมะซึ่งไม่เคยมีการจัดการการปนเปื้อนมาก่อน จะยังคงเป็นแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนซ้ำในระยะยาว การค้นพบจากการสำรวจรังสีครั้งล่าสุดของเราได้หักล้างความเชื่อเรื่อง “การกลับคืนสู่ภาวะปกติ’ ในบางพื้นที่ของฟุกุชิมะอย่างสิ้นเชิง” คาซูเอะ ซูซูกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานของกรีนพีซญี่ปุ่นกล่าว

ข้อค้นพบสำคัญของการสำรวจของกรีนพีซญี่ปุ่น ได้แก่:

  • ตรวจพบจุดเสี่ยง (hotspots) ในทุกพื้นที่ที่ทำการสำรวจ ประกอบด้วย โอกุมะ, นาราฮา (หมู่บ้านเจ) และเขตเมืองฟุกุชิมะ
  • พบระดับรังสีเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเปรียบเทียบกับการตรวจวัดในปีก่อนๆ ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการการสลายตัวของรังสี
  • ในหมู่บ้านอิทาเตะ (Iitate) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ชาวบ้านกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้ พบว่าระดับรังสีเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาห้าปีที่มีการเก็บข้อมูล และดูเหมือนว่าการเคลื่อนย้ายรังสีในดินและผลกระทบด้านสภาพอากาศเป็นผลมาจากน้ำฝนปริมาณมาก 
  • บริเวณริมแม่น้ำตากาเซะ (Takase) ในพื้นที่ที่เพิ่งเปิดให้เข้าไปอยู่อาศัยอีกครั้งในเมืองนามิอิ (Namie) ที่ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัย พบว่าจำนวน  99% มีระดับรังสีเฉลี่ย 0.8 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (μSv / h)  สูงสุด 1.7 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง โดยที่จำนวน 99% มีระดับรังสีสูงกว่าเป้าหมายในการกำจัดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีระยะยาว ซึ่งกำหนดไว้ที่ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ระยะวัด 1 เมตร และสูงกว่าระดับรังสีที่วัดได้ในปีพ.ศ. 2554 ถึง 20 เท่า
  • ภายในระยะเวลาสี่ชั่วโมง ทีมสำรวจสามารถระบุจุดเสี่ยง (hotspot) บริเวณรอบๆ สถานีรถไฟกลางเมืองฟุกุชิมะได้ 46 จุด  ในจำนวนนี้ 11 จุด มีค่าเทียบเท่าหรือเกินกว่าเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ระยะวัด 1 เมตร  รวมถึงพบว่าระดับรังสีสูงกว่าที่วัดในสภาพแวดล้อมของฟุกุชิมะช่วงก่อนเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ปีพ.ศ. 2554 ถึง 137 เท่า
  • ในพื้นใกล้โรงเรียนและโรงเรียนอนุบาลเก่าที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่เปิดให้เข้าไปอยู่อาศัยได้อีกครั้งที่นามิอิ  ตามหลักการของรัฐบาลญี่ปุ่น ปริมาณการรับรังสีรอบปีจะอยู่ระหว่าง 10-20 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) และปริมาณการรับรังสีต่อเนื่องเต็มปีที่ระหว่าง 17-33 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งสูงกว่าข้อแนะนำเรื่องปริมาณรังสีสูงสุดที่ยอมรับได้ในพื้นที่สาธารณะของหน่วยงานนานาชาติ 10 และ 33 เท่า
  • ใกล้ศาลาว่าการเมืองแห่งใหม่ในพื้นที่ที่เปิดให้เข้าไปอยู่อาศัยได้อีกครั้งแห่งใหม่ล่าสุดที่โอกุมะ (Okuma) และห่างจากจุดที่วางแผนให้เป็นเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกไม่กี่ร้อยเมตร มีจุดอันตรายที่วัดรังสีได้ 1.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร และ 2.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 10 เซนติเมตร  ซึ่งสูงกว่าตัวเลขฐานที่วัดไว้ก่อนเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ที่ ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถึง 62 เท่า
  • หลักฐานที่ได้จากพายุไต้ฝุ่นก่อนหน้านี้และข้อมูลประมวลผลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการปนเปื้อนเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562  กรีนพีซตั้งใจจะกลับมาสำรวจอีกครั้งในปลายปีนี้ เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมและยืนยันสมมติฐานของผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ

“จุดเสี่ยงทางรังสีที่เราพบในพื้นที่สาธารณะ ตามทางเท้าและถนนในใจกลางเมืองฟุกุชิมะ รวมถึงระยะหลายสิบเมตรจากทางเข้าสถานีรถไฟสายชินคันเซ็นไปโตเกียว เน้นให้เห็นถึงภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปีพ.ศ. 2554 ที่ยังดำเนินอยู่ จุดอันตรายที่เราพบมีรังสีอยู่ในระดับที่จะต้องมีใบอนุญาตพิเศษในการขนย้าย และจัดอยู่ในหมวดหมู่กากของเสียอันตราย รัฐบาลกำลังใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นช่องทางสื่อสารความเชื่อที่ว่า ในฟุกุชิมะ ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว พวกเขาอ้างอย่างผิดๆ ว่ามีการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรังสีแล้วหรืออยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว การสำรวจรังสีของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลไม่เป็นความจริง” ฌอน เบอร์นี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนิวเคลียร์ ของกรีนพีซเยอรมนีกล่าว

“ฉันหวังว่าโลกจะได้รู้สถานการณ์จริงในฟุกุชิมะว่ารังสีนิวเคลียร์ถูกชะลงมาจากเขตภูเขาเนื่องจากฝนตกหนักและไหลลงสู่พื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูการปนเปื้อนแล้ว ระดับรังสีที่พบรอบ ๆ บ้านของฉันสูงกว่าที่เคยเป็นมา เมื่อเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้น มันเป็นแบบนี้ และเร็ว ๆ นี้เราจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างไม่เป็นไร มันไม่ใช่” มิซูเอะ คันโนะ ชาวเมืองนามิอิ ผู้ช่วยประสานงานการสำรวจรังสีของกรีนพีซกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

Shaun Burnie, Senior Nuclear Specialist, Greenpeace Germany
[email protected], +81 (0)80-3694-2843

Mitsuhisa Kawase, Communications Officer, Greenpeace Japan
[email protected], +81 (0)70-3195-4165

Greenpeace International Press Desk, [email protected], phone: +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)