28 มกราคม 2563, จันทบุรี -เปิดตัวแล้วอย่างยิ่งใหญ่ โรงพยาบาลแสงอาทิตย์พระปกเกล้า โรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7 ที่เกิดขึ้นจากเงินบริจาคของประชาชนทั่วประเทศผ่านกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลแห่งแรกของภาคตะวันออก

28 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมรำไพพรรณี ชั้น 7 อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ได้มีการจัดงานเปิดโรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลแสงอาทิตย์  โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธี

โรงพยาบาลพระปกเกล้า ตั้งอยู่ที่ ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2481  จากโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง ปัจจุบันขยายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 755 เตียง แต่ในความเป็นจริงต้องดูแลคนไข้มากถึง 900 เตียง มีอาคารรักษาพยาบาลทั้งหมด 43 หลัง ให้บริการผู้ป่วยนอก1,903 รายต่อวัน ผู้ป่วยในนอนเฉลี่ย 671 รายต่อวัน และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการดูแลทั้งประชาชนชาวไทยและจากประเทศกัมพูชา

นายแพทย์เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า “โรงพยาบาลพระปกเกล้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก  ในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น จากข้อมูลในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 38 ล้านบาทเศษ ตกเฉลี่ยเดือนละ 3.2 ล้านบาท และอีกไม่นานโรงพยาบาลพระปกเกล้าจะเปิดให้บริการอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง เป็นอาคาร 10 ชั้น คาดว่าจะมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี”

การระดมทุนของกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปหรือระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จึงทำให้โรงพยาบาลพระปกเกล้าเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7 ที่มาจากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดรับบริจาคผ่านบัญชีชื่อ “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารของโรงพยาบาลแล้ว 7 แห่ง ซึ่งรวมโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรีแห่งนี้ด้วย

สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอายุรศาสตร์ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้านี้  ตั้งแต่วันที่ 4 – 6 มกราคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมารวมระยะเวลา 3 วันสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ โดยใช้แผงโซลาร์ชนิดโมโน ขนาด  405 วัตต์ จำนวน 90 แผง พร้อมอินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงตามที่กองทุนแสงอาทิตย์กำหนด ได้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 36.45 กิโลวัตต์ ใช้งบประมาณตามสัญญาว่าจ้างทั้งสิ้น 1,050,000 บาท หรือเฉลี่ยวัตต์ละ 28.8 บาท

ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดนี้ จะช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปีและยาวนานถึง 25 ปีตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าทั้งหมดของโรงพยาบาล แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจะสานต่อเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นต่อไป และหากโรงพยาบาลมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย จะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว และสามารถจะนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าได้ไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถ ในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไปอย่างที่ได้เห็นผลมาแล้วจาก 6 โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศจากการใช้พลังงานฟอสซิล 

“อุปสรรคสำคัญของการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยจึงไม่ใช่เพราะขาดศักยภาพแต่มาจากการปิดกั้นทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิกเฉยต่อการนำมาตรการหักลบกลบหน่วย Net Metering มาใช้ในการผลักดันให้มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์บ้านผลิตไฟฟ้าในระดับบ้านเรือนเพื่อลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนและสามารถขายไฟฟ้าเข้าสายส่งหลักในราคาที่เป็นธรรม ขณะนี้ประชาชนยังคงร่วมลงชื่อกว่า5,000รายชื่อแล้วเพื่อร่วมผลักดันให้คณะกรรมการกิจการพลังงาน(กกพ.)นำมาตรการหักลบกลบหน่วยมาใช้ภายในปีนี้” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  อิฐบูรณ์ อ้นวงษา โทรศัพท์ 095 534 2575, เสาวลักษณ์  ไหวดี โทรศัพท์ 0860161804
ข้อมูลเพิ่มเติมที่  www.thailandsolarfund.org  และเฟสบุ๊ค กองทุนแสงอาทิตย์

หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน www.thailandsolarfund.org เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด, Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[3] ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering ได้ที่ https://act.gp/2PizTpx

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม