ตาก, ท่าสองยาง, 15 ธันวาคม 2562, นักวิ่งกว่า 600 คนร่วมงานวิ่ง “กินลมชมเมย” เพื่อระดมทุนร่วมกับโรงพยาบาลท่าสองยางสมทบทุนให้กับกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายรับบริจาคเงินทั่วประเทศเพื่อการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลท่าสองยางจังหวัดตากเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย

โรงพยาบาลท่าสองยาง ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2528 จากโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ได้ขยายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ปัจจุบันนายแพทย์ธวัชชัย  ยิ่งทวีศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ด้วยโรงพยาบาลท่าสองยาง ตั้งอยู่

หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งมีพื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดชายแดนรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมาร์หรือพม่า ริมแม่น้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวทิวเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากอำเภอแม่สอดถึงอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวอำเภอเมืองตากถึงอำเภอท่าสองยางประมาณ 169 กิโลเมตร ทำให้โรงพยาบาลท่าสองยางต้องให้บริการดูแลทั้งประชาชนชาวไทย ชาวปกากะญอ และชาวพม่าประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นายแพทย์​ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ท่าสองยาง 

กล่าวว่า “ค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลท่าสองยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเช่นกัน การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเป็นการลดภาระของงบประมาณที่ทางโรงพยาบาลต้องจ่ายปีละหลายล้านบาท และโรงพยาบาลสามารถนำค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ทุกปีนำเงินเหล่านั้นมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ค่าเครื่องมือทางการแพทย์และการบริการได้อีกมาก และนั่นหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสของโรงพยาบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด”

โรงพยาบาลท่าสองยาง มีอาคารทั้งหมด 6 หลัง ให้บริการผู้ป่วยนอก 300 รายต่อวัน ผู้ป่วยในนอนเฉลี่ย 60 รายต่อวัน แต่บางคราวก็ต้องรับถึง 90 ราย 

ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของโรงพยาบาลท่าสองยางตกเดือนละ 3 แสนบาทหรือปีละ 3,600,000 บาท ทั้งยังต้องแบกรับภาระหนี้ค่ายาและเวชภัณฑ์กว่า 30 ล้านบาทในปี 2562 การติดตั้งโซล่าเซลล์ของโรงพยาบาลท่าสองยางมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 35.10 กิโลวัตต์ ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน 90 แผง ภายใต้งบดำเนินการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 1,070,000 บาท คาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานต่อเนื่องถึง 25 ปี นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 ที่ได้จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์

อาจารย์ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ “การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากและราคาถูกลง การลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ของโรงพยาบาลจะทำให้เกิดการคุ้มทุนภายในระยะเวลา 5 ปี และลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้เกิดการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มมากขึ้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จึงต้องนำมาตรการ net Metering หักลบกลบหน่วยมาใช้ อันเป็นมาตรการสำคัญซึ่งหลายประเทศนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในการส่งเสริมให้หลังคาครัวเรือนและหลังคาบนอาคารติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาเพื่อลดค่าไฟฟ้าและลดภาระการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศ”

หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน www.thailandsolarfund.org เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด, Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทย และกรีนพีซประเทศไทย

[3] ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering ได้ที่ www.greenpeace.or.th/netmetering

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม