จาการ์ตา, 3 ธันวาคม 2557- วันนี้กรีนพีซเปิดเผยรายงานซึ่งระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของแหล่งน้ำทั้งหมดในจังหวัดกาลิมันตันใต้ ของอินโดนีเซียสุ่มเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเสียจากเหมืองถ่านหิน

รายงาน “เหมืองถ่านหิน ตัวการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำจังหวัดกาลิมันตันใต้” ระบุผลการศึกษาของกรีนพีซที่ใช้ระยะเวลากว่าเก้าเดือน ว่าของเสียอันตรายที่ปล่อยออกมาจากการทำเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ได้ปนเปื้อนสู่ลำธารและแม่น้ำในจังหวัดกาลิมันตันใต้ ในหลายกรณีพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำเสียจากกิจการเหมือง

พื้นที่ 1 ใน 3 ของจังหวัดกาลิมันตันใต้ถูกจัดสรรเพื่อการทำเหมืองถ่านหิน ถือเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพน้ำในพื้นที่ (1) กรีนพีซตรวจพบการปล่อยของเสียอันตรายที่มีสภาพเป็นกรด ประกอบไปด้วยแร่เหล็ก แมงกานีส และอะลูมิเนียมจากสิ่งปนเปื้อนหลายๆชนิดในแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดกาลิมันตันใต้ ทั้งนี้ ราว 3,000 กิโลเมตร ของแม่น้ำในกาลิมันตันซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 45 จากแม่น้ำทั้งหมด ตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำของเหมืองถ่านหิน

“ผู้คนในชุมชนใกล้เคียงกับแหล่งน้ำอาจต้องใช้น้ำที่ปนเปื้อนของเสียจากเหมืองถ่านหินเพื่อชำระล้างร่างกาย ซักล้าง และทำการเกษตร  พวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้จากการทำเหมืองถ่านหิน รัฐบาลต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน” นายอารีฟ ฟิยันโต ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินโดนีเซียกล่าว

อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินประเภทให้ความร้อน (thermal coal) รายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลก  กว่าทศวรรษที่ผ่านมามากกว่าร้อยละ 90 ของการผลิตถ่านหินและการส่งออกของประเทศมาจากจังหวัดกาลิมันตันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว  นอกจากการทำเหมืองถ่านหินได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การส่งออกถ่านหินของกาลิมันตันยังเพิ่มอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 460 ล้านตันภายในปี 2563 (2) ซึ่งสวนทางกับคำมั่นที่อินโดนีเซียให้ไว้ในปี 2552 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ร้อยละ 41 ภายในปี 2563

รายงาน – ภาษาอังกฤษ:

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การผลิตถ่านหินมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในจังหวัดกาลิมันตันใต้ โดยในปี 2554 สามารถผลิตถ่านหินได้ถึงร้อยละ 33 ของถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่การผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

จากการตรวจสอบของกรีนพีซ พบว่าตัวอย่างน้ำเสีย  22 จาก 29 ตัวอย่างที่เก็บได้จากเหมืองถ่านหินจำนวนห้าแห่งในจังหวัดกาลิมันตัน มีสภาพเป็นกรด (ค่า PH ต่ำ) และเป็นค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานของรัฐบาลกำหนดไว้ การปล่อยและการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนจากเหมืองถ่านหินก่อให้เกิดอันตรายต่อลำห้วย หนองน้ำ และแม่น้ำใกล้เคียง

กรีนพีซกล่าวว่า บริษัทเหมืองถ่านหินที่กำลังแสวงหาผลกำไรจากสิ่งสกปรกเหล่านี้และในบางกรณีมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและหยุดปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำที่ซึ่งชุมชนใช้ในการดำรงชีวิต บริษัทที่ถูกตรวจพบว่ากระทำผิดกฎหมายจะต้องชำระค่าเสียหายในการดำเนินการทำความสะอาดแหล่งน้ำถึงแม้ว่าใบอนุญาตการทำเหมืองถ่านหินของพวกเขาจะหมดอายุหรือถูกยกเลิก เนื่องจากการระบายของเสียที่มีสภาพเป็นกรด (AMD) จากเหมืองจะสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหลายสิบปี

“รัฐบาลชุดใหม่ของอินโดนีเซียและของจังหวัดกาลิมันตันใต้จะต้องควบคุมผู้ปล่อยมลพิษให้มีความรับผิดชอบเพื่อเป็นการปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อม  เรามุ่งหวังการตรวจสอบโดยละเอียดจากหน่วยงานภาครัฐบาล ตลอดจนการควบคุมดูแลกฎระเบียบให้เข็มงวดขึ้น เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อต่อสู้และแก้ปัญหาการปนเปื้อนตามที่ระบุไว้ในรายงาน” อารีฟ ฟิยันโต กล่าว

ดาวน์โหลด:

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

อารีฟ ฟิยันโต ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินโดนีเซีย
โทร.+62 8111805373

ฮิกแมท สุเรียตันวิจายา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.+62 819888829

สำหรับภาพถ่ายกรุณาติดต่อ เกรซ ดูราน คาร์บุส
อีเมล: [email protected]

สำหรับภาพเคลื่อนไหวกรุณาติดต่อ โกดี อูตามา
อีเมล:  [email protected]

หมายเหตุ

(1) ประมาณ 1 ล้าน เฮกตาร์ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดกาลิมันตันใต้พื้นที่ 3.7 ล้านเฮกตาร์ได้รับการจัดสรรเป็นสัมปทานเหมืองถ่านหิน

(2) รายงานกรีนพีซ เรื่อง ‘Point of No Return’ เผยแพร่ เดือนมกราคม 2556 หน้า 12

(3) รายงาน “เหมืองถ่านหิน ตัวการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำจังหวัดกาลิมันตันใต้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม