ปฏิวัติพลังงานบนหลังคา

ผลักดันโซลาร์รูฟท็อปสู่หลังคาครัวเรือน หนุนมาตรการ net-metering และเพิ่มโอกาสการจ้างงาน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นธรรมหลังวิกฤตโรคระบาด


เพื่อจะชะลอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ป้องกันเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ เราจำเป็นต้องปฏิวัติพลังงานสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

กรีนพีซ ประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้เสนอข้อเสนอการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการ “ปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 3 ปี” นั่นคือการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาติดตั้ง บนหลังคาครัวเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเรา

ข้อเสนอ ‘ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา’ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ได้ 1 ล้านหลังคาเรือน

เกินกว่าร้อยละ 90 ของการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเป็นแบบโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นหลังคาบ้านสำหรับที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตนเองได้แล้ว สามารถลดจำนวนเงินที่เคยไหลออกอย่างเดียวให้ลดลงได้ หรือถ้าดีกว่านี้อีกก็สามารถทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าตนเองได้ด้วย  จนมีการกล่าวกันว่า ผู้บริโภค หรือ consumer ได้กลายเป็น “prosumer” แล้ว

นโยบายการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องซื้อมิเตอร์เพิ่มเติม ไม่ต้องติดอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน และไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่ ก็คือ นโยบาย “net – metering”  คือการอนุญาตให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ (ในตอนกลางวันซึ่งเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน) สามารถไหลเข้าสู่สายส่งได้ก่อน  และในเวลากลางคืน (เจ้าของบ้านกลับมา) ไฟฟ้าจากสายส่งก็ไหลกลับเข้าบ้าน เมื่อครบเดือนก็คิดการใช้สุทธิ (net) ตามที่ปรากฏในมิเตอร์  

ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำนโยบาย net-metering ไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา  อินเดีย ปากีสถาน และ เคนยา เป็นต้น แต่ประเทศไทยเรายังไม่นโยบายนี้เลย นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบ้านเรือนมากกว่า 10 ปี แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคหลายประการในการติดตั้ง จนทำให้ระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ในประเทศไทยมีความคืบหน้าช้ามาก

ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) ด้วยมาตรการ Net Metering


มาตรการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering)

มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) คือ ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้ว


กองทุนแสงอาทิตย์

กองทุนแสงอาทิตย์ซึ่งกรีนพีซร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่าย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน



Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน