วิธีจัดงานแบบขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)

ทุกวันนี้ การลดใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถทำได้ และอยากให้ทุกคนหันมาลองทำกันดู บรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพลาสติกที่ถูกระบุว่า “สามารถนำไปรีไซเคิล” ก็ไม่ได้ถูกนำเข้าระบบรีไซเคิลไปจัดการต่อ แต่บางส่วนหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลดตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ขยะไม่เกิดตั้งแต่แรก และป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายด้วยมลพิษพลาสติก
การจัดกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ปิกนิกนอกบ้าน จัดงานอีเว้น หรือดนตรีในสวน ก็สามารถหลีกเลี่ยงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ เรามีวิธีการง่าย ๆ มาให้คุณลองทำตามดู และนำเสนอเป็นไอเดียว่า เราสามารถจัดงานแบบ Zero Waste หรือขยะเป็นศูนย์ได้ มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด

จัดงานใหญ่ ๆ แบบ Zero Waste
- เชิญชวนผู้เข้าร่วมผ่านโซเชียลมีเดียหรืออีเมล ให้ทุกคนทราบว่า งานอีเว้นเป็นงานที่ต้องการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและลดสร้างทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ขอความร่วมมือทุกคนพกภาชนะส่วนตัว เช่น กล่องใส่อาหาร แก้วกาแฟใช้ซ้ำ ขวดน้ำส่วนตัว ช้อนส้อมใช้ซ้ำ เป็นต้น มาเอง
- ภายในงาน เตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเอาไว้ เช่น ตู้กดน้ำ ซิงค์ล้างภาชนะส่วนตัว และอย่าลืมเตรียมอุปกรณ์ใช้ซ้ำไว้บางส่วน เช่น ขวดน้ำ จานชาม สำหรับคนที่ลืมพกมา
- สร้างจุดแยกขยะอย่างละเอียดพร้อมป้ายกำกับไว้ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะเศษอาหาร ที่อยากให้มีทั่วถึงทุกพื้นที่ ผู้เข้าร่วมงานจะได้มีที่เทเศษอาหารทิ้งได้ง่ายและหมุนวนภาชนะไปใช้ได้ตลอด
- ถ้ามีร้านค้าต่าง ๆ มาร่วมออกร้านด้วย ทำความเข้าใจกับร้านค้าตั้งแต่แรกถึงความตั้งใจในการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบการจะได้เห็นภาพเดียวกันและให้ความร่วมมือในการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้จัดการจะต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับร้านค้า ให้พวกเขาได้เห็นทางออกว่า พวกเขาจะต้องทำอย่างไรได้บ้างโดยไม่ใช้พลาสติก เช่น ใช้ภาชนะจากธรรมชาติมาใช้แทน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้จัดงานจะต้องทำป้ายติดตั้งที่ร้านค้าทุกร้าน ขอความร่วมมือลูกค้านำภาชนะส่วนตัวมาใส่แทนการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือภาชนะที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้
- ผู้จัดงานนำ “ระบบมัดจำ” มาใช้ภายในงาน โดยบังคับใช้กับภาชนะ เช่น แก้วเครื่องดื่ม จานชามใส่อาหาร ฯลฯ เมื่อลูกค้าใช้เสร็จแล้ว ก็นำไปคืนที่จุดคืนภาชนะและได้รับเงินคืน

จัดงานใหญ่ ๆ แบบ Zero Waste
- แจ้งผู้ร่วมงานให้ชัดเจนว่าเป็นงานแบบไร้ขยะ (Zero Wast) ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมทุกคนให้นำภาชนะส่วนตัว เช่น กล่องใส่อาหาร แก้วกาแฟใช้ซ้ำ ขวดน้ำส่วนตัว ช้อนส้อมใช้ซ้ำ เป็นต้น มาเอง
- ถ้าในงานมีกิจกรรมแลกของขวัญ ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมให้หาสิ่งของที่เรามีอยู่แล้วที่บ้าน หรือ ต้นไม้/ดอกไม้ที่เราปลูกเอาไว้มาแลกกัน จะได้ไม่ต้องซื้อของใหม่และไม่สร้างทรัพยากรเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
- การตกแต่งสถานที่: เน้น “หลักการใช้ซ้ำ” ในการหาเครื่องประดับมาตกแต่งพื้นที่ในงาน แทนการซื้อของใหม่ เราแนะนำให้นำของที่ใช้แล้วจากครั้งก่อนมาจัดวางตกแต่ง หรือใช้สิ่งของที่มีอยู่แล้วในบ้านมาจัดวางแทน เช่น ต้นไม้/ดอกไม้ อีกทางหนึ่ง การหยิบยืมจากคนใกล้ตัวก็เป็นทางออกที่ดี ถ้าเราซื้อของประดับตกแต่งที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว เมื่องานจบลง สิ่งของเหล่านั้นก็กลายเป็นขยะที่ไปจบลงที่หลุมฝังกลบ
- อุปกรณ์รับประทานอาหารภายในงาน: เน้น “หลักการใช้ซ้ำ” เช่นเดิม นำช้อนส้อนที่ใช้ซ้ำได้ที่มีอยู่แล้วที่บ้านแทนการซื้ออุปกรณ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การใช้ช้อนส้อม/แก้วน้ำพลาสติก อาจจะเป็นวิธีที่สะดวก เพราะใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งทันที แต่พลาสติกที่ปนเปื้อนอาหารแล้วจะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทั้งหมดก็จะไปจบลงที่หลุมฝังกลบ ดังนั้น หันมาใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว และล้างทำความสะอาดหลังการใช้งานจะดีกว่า
- อย่าลืมจัดการกับขยะเศษอาหาร: โดยทั่วไปแล้ว ขยะเศษอาหารจะมีปริมาณประมาณครึ่งหนึ่งของขยะทั้งหมด และถ้าขยะเศษอาหารปนเปื้อนขยะอื่น ๆ จะทำให้ขยะนั้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ เราแนะนำให้มีถังขยะอย่างน้อย 3 ถัง คือ ขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติกสะอาด และขยะทั่วไป และเมื่อจบงาน ขยะเศษอาหารสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้หรือทำปุ๋ย ขยะพลาสติกนำไปให้ซาเล้งหรือขายที่สถานประกอบการใกล้บ้าน ส่วนขยะทั่วไปนำไปทิ้งที่ถังขยะ ซึ่งเราต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องสร้างขยะทั่วไปให้น้อยที่สุด เพราะมันจะไปจบที่บ่อขยะหรือหลุมฝังกลบ
ในช่วงที่หลายจังหวัดเริ่มกลับมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกครั้ง การจัดงานโดยยึดหลักการ “Zero Waste ขยะเป็นศูนย์” สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ หลักการนี้สามารถทำได้ในทุกงานทุกกิจกรรม โดยอยู่ภายใต้กระบวนการคิดว่าจะลดการสร้างขยะพลาสติกและไม่สร้างทรัพยากรใหม่โดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้มีขยะจากการจัดงานไปจบที่หลุมฝังกลบและหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม