สถานะ ชะลอโครงการ
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด ของบริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น และบริษัทยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ ที่ต้องการเดินหน้าผลักดันการอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด ๗๐๐ เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง
บริเวณ อำเภอบ่อนอก และอำเภอหินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากความเหมาะสมของพื้นที่ที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับภาคกลางที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง และภาคใต้เพื่อปูทางสู่โครงการนิคมอุตสาหกรรม ร่วมทั้งท่าเรือน้ำลึกเพื่อการนำเข้าถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและใช้ในอุตสหกรรมโดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ราว ๓.๘๕ ล้านตันต่อปี ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเมื่อ ปี๒๕๔๕ และ ปี๒๕๔๖ตามลำดับ แต่เนื่องจากโครงการฯ ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกฎหมายในขณะนั้นได้บังคับให้เจ้าของโครงการต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รายงาน EIA ของโครงการได้ผ่านการเห็นชอบโดยคณะผู้ชำนาญการของ สผ. ในขณะนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากชุมชนจนสุดท้ายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ถูกล้มในที่สุด
จากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. ทำให้ไม่มีฝ่ายค้านที่จะคัดค้านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในขณะนั้น ทำให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด ของ บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น และ บริษัทยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ ในปี 2540 ปรากฎการณ์การเข้ามากว้านซื้อที่ดินผ่านนายหน้า ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ทราบเพียงแค่จะมีการนำที่ดินไปทำโรงงานอุตสาหกรรมและสนามกอล์ฟเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านและผู้นำชุมชนทราบว่าจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น บริเวณเลียบชายหาดของพื้นที่บ่อนอก และบ้านกรูด ชาวบ้านบ่อนอก – บ้านกรูดต่างพากันกังวลถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา โดยมีบทเรียนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของชาวบ้านอาศัยอยู่รอบๆโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่ง
โดยการรวมกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก” และ “กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด” ขึ้นเมื่อปี 2541 เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และการสร้างการมีส่วนรวมในท้องถิ่นเพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเรื่องการมีสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน 2547 นายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นบ่อนอก และแกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ถูกลอบยิงเสียชีวิต และนำมาสู่คำกล่าวที่ว่า “ตายหนึ่งจักเกิดแสน”
เมื่อปี 2547 จากการต่อสู้อันเข้มแข็งของชุมชนบ่อนอกและบ้านกรูดทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปจากพื้นที่บ่อนอกและบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการต่อสู้เพื่อที่จะเรียกร้องถึงความเป็นธรรมที่จะรักษาวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินยักษ์ใหญ่ ทั้งนี้การต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ของชาวบ่อนอกบ้านกรูดนำมาซึ่งต้นแบบให้เกิดการต่อสู้ระดับนโยบายพลังงานของประเทศ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดการพลังงานและทรัพยากร