สถานะ ชะลอโครงการ
เมื่อปี 2550 รัฐบาลเริ่มมีแผนผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์โดยใช้ถ่านหินผ่านการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ต่อมาปี 2552 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ล่าสุดในปี 2554 จากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ของบริษัทเนชั่นแนล เพาวเวอร์ซับพลาย จำกัดในฐานะเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก ขบวนการและขั้นตอนการดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 การดำเนินการมีลักษณะของการจัดตั้ง ประกอบกับที่ตั้งโรงไฟฟ้าฯอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลเขาหินซ้อนมีปัญหาอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นสูงมาก ทำให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าฯ ไม่กล้าแสดงตัวและความกังวลใจอย่างเป็นอิสระได้ กระบวนการขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมีบรรยากาศของการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังได้อย่างสะดวก
ต่อมา เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้มีการดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพยึดข้อมูลการการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( EIA ) ที่ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นสำคัญ มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยและลงสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน แต่ไม่ได้ลงศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รวบรวมเพิ่มเติมมาวิเคราะห์มาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามข้อกังวลใจของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่รัศมี 5-10 กิโลเมตร ในประเด็นมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแย่งใช้น้ำทั้งน้ำประปาและน้ำ การเกษตร พืชผลการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้น ผลกระทบต่อพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และฟาร์มต้นแบบที่ตั้งอยู่ในชุมชนพื้นที่รอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ข้อเท็จจริงทางโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้น้ำเพียงรายเดียวจากคลองระบม ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำคลองระบม และข้อเท็จจริงมีประชาชนในลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำบางปะกง มีความต้องการการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา และการเกษตร ในอำเภอพนมสารคาม อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น อำเภอคลองเขื่อน และอำเภอเมืองในปัจจุบัน ตลอดจนเกษตรกรในอำเภอสนามชัยเขต มีการทำนาปรังเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีในรายงานและไม้ได้ใช้ประกอบการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบ ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดแลระบบนิเวศและชุมชนตลอดลุ่มน้ำคลองระบม-สียัด เชื่อมต่อลงสู่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำบางปะกง
ประการสุดท้ายคือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจการโครงการโรงไฟฟ้าฯขนาดใหญ่ของเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากโครงการโรงไฟฟ้าเดิมในเขตอุตสาหกรรม 304 โครงการ 2 อยู่แล้วในปัจจุบัน กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต ผู้ผลิตข้าว ผัก ไม้ผลอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ และจำหน่ายในตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ ผลผลิตที่ได้จากพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษา โดยทางเครือข่ายผู้ที่จะได้รับผลกระทบเสนอให้ทางบริษัทฯลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริง ทางการศึกษาวิจัยก่อนการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนมาตรการป้องกันผลกระทบ และการคุ้มครอง ชดเชยความเสียหายที่จัดตั้งขึ้นต่อผู้ได้รับผลกระทบ เพราะยากต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในทางวิชาการถึงผลกระทบโดยตรงจากโครงการโรงไฟฟ้าฯ เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงในพื้นที่ ภาระความสูญจึงเสียตกอยู่ในมือของประชาชน มากกว่าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน