วิกฤตของมหาสมุทร

มหาสมุทรของเรากำลังเผชิญกับวิกฤต  ระบบนิเวศมหาสมุทรและทะเลที่อุดมสมบูรณ์กำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินขนาด มลพิษพลาสติก การปนเปื้อนของสารพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภัยคุกคามเหล่านี้ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม และเร่งให้สัตว์น้ำจำนวนมากต้องสูญพันธุ์หรือตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ อุตสาหกรรมการประมงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องมหาสมุทรและทะเลของเรา

การจับสัตว์น้ำเกินขนาด (Overfishing)

อุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ที่ไร้ความรับผิดชอบออกแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลที่มีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเรือประมงที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากการจับปลาในปริมาณมหาศาลแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ดอกไม้ทะเล หรือสัตว์หน้าดิน เร่งให้เกิดทำลายระบบนิเวศเกินกว่าการที่ธรรมชาติจะสามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้

การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch)

การทำประมงยุคใหม่นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยไม่จำเป็น ในทุกๆปี เครื่องมือประมงทำลายล้างและอวนลากคร่าชีวิตวาฬและโลมาไม่น้อยกว่า 300,000 ตัวทั่วโลก เนื่องจากการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสมกับประเภทสัตว์น้ำที่จับ วาฬ โลมา หรือฉลามจึงมักจะติดอวนลากขึ้นมาโดยไม่ใช่สัตว์น้ำกลุ่มเป้าหมาย และยังทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและสัตว์น้ำประจำถิ่น  ตัวอย่างเช่น เรืออวนลากที่ทำลายระบบนิเวศปะการังที่อยู่มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรณ์ ไปพร้อมกับระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบางโดยรอบ

การประมงที่ไม่เป็นธรรม

เรือประมงที่ละเมิดกฎหมายมักออกทำการประมง และไม่คำนึงถึงน่านน้ำของประเทศที่ขาดความมั่นคงทางอาหารและรายได้ โดยกิจการประมงที่ผิดกฎหมายนั้นจะให้ผลตอบแทนน้อยมากให้กับประเทศผู้เป็นเจ้าของน่านน้ำที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เช่นประเทศชายฝั่งทะเลของแอฟริกาและกลุ่มประเทศริมฝั่งและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

การกดขี่ขูดรีดแรงงานประมง

เมื่อพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมประมงจะพบถึงความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีรายงานบ่งชี้เกี่ยวกับการทําประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) การค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิแรงงานประมงรวมไปถึงการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อบนเรือประมงนอกน่านน้ำในเขตทะเลหลวงที่ห่างไกลจาการตรวจสอบ

A shark is hauled in as bycatch by crew onboard an Iranian flagged vessel fishing for tuna in the Northern Indian Ocean. These vessels often fish for tuna with 7 mile long gill nets, fishing with a gill net over 1.5 miles is illegal. Greenpeace is in the Northern Indian Ocean to bear witness to the destructive fishing practices of under documented fishing fleets which it is estimated cause the bycatch of 80-100,000 cetaceans per year.

การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล(Transshipment at Sea) นั้นถือเป็นแบบจำลองธุรกิจประมงนอกน่านน้ำซึ่งช่วยให้เรือประมงลอยลำเพื่อทำประมงกลางทะเลและอยู่ห่างไกลจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ โดยดำเนินการนอกกรอบกฎหมาย เรือแม่จะทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารและบางครั้งยังมีการส่งแรงงานบังคับที่มาจากการค้ามนุษย์อีกด้วย นอกจากนี้ยังรับสัตว์ทะเลจากเรือประมง ซึ่งบางครั้งพบว่ามีสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นฉลาม

ภาวะโลกร้อน

อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวทะเลสูงเพิ่มขึ้นขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่เร่งเร้ามากขึ้นองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.Environmental Protection Agency) ระบุว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงกว่าในอดีต จากการบันทึกข้อมูลไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2423

บรรดาสายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำทั้งหมดล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สัตว์น้ำไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวและตายเนื่องจากไม่สามารถทนสภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นได้

Great Barrier Reef Mass Coral Bleaching Event. © Dean Miller / Greenpeace
ปะการังบริเวณนี้กำลังฟอกขาวครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในรอบ 2 ปี ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 กรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิกเรียกร้องอย่างหนักให้รัฐบาลทั่วโลกยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงสร้างแหล่งพลังงาน © Dean Miller / Greenpeace

 

ขณะเดียวกัน มหาสมุทรกำลังกลายสภาพเป็นกรดจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ และเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทั้งการกัดกร่อนของปะการัง การทำให้เปลือกของสัตว์ประเภทหอยบางลง และทำให้ปลามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและอ่อนไหวต่อสัตว์ที่เป็นผู้ล่ามากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ ทำให้ห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนไปทั้งระบบ

การที่สัตว์น้ำบางชนิดที่ไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน ก็หมายถึงว่าปลาเศรษฐกิจที่เราบริโภคก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล ด้วยเหตุนี้สภาวะน้ำทะเลเป็นกรดจึงถูกขนานนามว่าเป็น “แฝดตัวร้าย” ของภาวะโลกร้อน

 

ขยะพลาสติก

มลพิษพลาสติกและสารพิษคืออีกหนึ่งในภัยคุกคามหลักของทะเลและมหาสมุทร

ข้อมูลจากรายงานอุตสาหกรรมพลาสติกปี พ.ศ. 2559 การผลิตพลาสติกทั่วโลกขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.6 ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จาก 1.5 ล้านตันต่อปีเพิ่มเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี และจวบจนปัจจุบันมีการผลิตพลาสติกทั่วโลกในปริมาณ 9 พันล้านเมตริกตัน อย่างไรก็ดี รายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสถาบันสมุทรศาสตร์วูดสโฮลในรัฐแมสซาชูเซทส์ของสหรัฐฯ ที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science Advances ระบุว่าจากปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 9 ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล พลาสติกมารวมกันจากอิทธิพลของกระแสน้ำวนในมหาสมุทร ซึ่งโดยหลักๆ มีอยู่ 5 บริเวณคือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและใต้ 2 บริเวณ ในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 บริเวณ และอีกหนึ่งบริเวณในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำวนขนาดเล็กอีกบางส่วน กระแสน้ำวนในมหาสมุทรเหล่านี้เป็นแหล่งรวมกันของถุงพลาสติก ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก ถังพลาสติก กล่องโฟม ตาข่ายจับปลา เชือกพลาสติก กรวยจราจร ไฟแช็ค ของเล่นพลาสติก ยางรถยนต์ แปรงสีฟันพลาสติก และวัตถุพลาสติกชิ้นจิ๋วที่ไม่สามารถระบุได้

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบเศษพลาสติกบนเกาะเฮนเดอร์สัน(Henderson Island)เกาะร้างอันห่างไกลในแปซิฟิกใต้ ขยะพลาสติกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้มีที่มาจากทั่วโลก พวกเขาพบชิ้นส่วนขยะพลาสติกจากเยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา และประเทศอื่นๆ ถึง 18 ตัน พลาสติกจิ๋วเหล่านี้ยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกๆ ตารางเมตรบนชายหาดเมื่อนักวิจัยขุดลึกลงไป 10 เซนติเมตร จะพบเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ มากกว่า 4,000 ชิ้น

Plastics Brand Audit at Wonnapa Beach in Chonburi. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace

สารพิษ

มลพิษจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์คืออีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล อาจจะเป็นมลพิษที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษที่มาจากน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสกปรก หรืออาจจะมาจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเลก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลเช่นกัน

เมื่อการบริโภคในสังคมมนุษย์เพิ่มมากขึ้น จากการจับปลาเพียงเพื่อการบริโภคก็กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง sciencemag.orgได้เผยงานวิจัยว่า สภาวะทะเลเป็นกรด การประมงเกินขนาด และกิจกรรมของมนุษย์ต่างๆนั้นเป็นภัยคุกคามอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มหาสมุทรซุกซ่อนไว้ภายใต้ความเวิ้งว้างอันสวยงาม ที่เรามักนำปัญหาและความทุกข์ไปฝากไว้ทุกครั้งเมื่อไปเยี่ยมเยือนทะเล


ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ

เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้