เกิดอะไรขึ้นในผืนป่าอินโดนีเซีย

หลังการเข้ามาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ในระยะเวลาเพียง 40 ปี เราสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนอินโดนีเซียในบอร์เนียวไป เทียบเท่ากับพื้นที่ของประเทศซีเรียทั้งประเทศ

การสูญเสียผืนป่าส่วนใหญ่เกิดจากการทำลายป่าเพื่อทำสวนปาล์ม และอุตสาหกรรมกระดาษที่ทำลายป่าพรุซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นยอด การคุกคามของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อ ป่า มนุษย์เรา และโลกบ้าง

อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ดังที่เราทราบกัน ป่าฝนเขตร้อนทุกๆแห่งมีบทบาทที่สำคัญมากในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นผืนป่าที่ผลิตก๊าซออกซิเจน อากาศบริสุทธิ์ให้กับพวกเรา เพียงแค่ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเพียงที่เดียวก็สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง สามหมื่นห้าพันล้านตันแล้ว  ผืนป่าเหล่านี้จะช่วยคงอุณหภูมิโลก ซึ่งหมายความว่าจะสามารถลดอัตราความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลงได้

แต่การเข้ามาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนั้น มีการแผ้วถางพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์มากมายให้กลายเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้ความสามารถในการผลิตอากาศบริสุทธ์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียลดลง ผลที่ตามมานั่นก็คือ เราจะคงอุณภูมิของโลกไม่ให้ร้อนเกินไปกว่านี้ได้ยากขึ้น และทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น เราจะเผชิญเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึงทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น คลื่นความร้อนที่ทำให้ออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงเกือบ 50 องศาเซลเซียส หรือ ปรากฎการณ์ โพลาร์ วอเท็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้คนเผชิญภัยหนาวอุณหภูมิถึง -35 องศาเซลเซียส ในช่วงต้นปี พ.ศ.2562

PT Megakarya Jaya Raya (PT MJR) oil palm concession. © Ulet Ifansasti / Greenpeace

ภาพการสำรวจการถางป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่สวนปาล์มของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเป็นบริเวณกว้าง ที่ส่งน้ำมันปาล์มให้กับแบรนด์เครื่องดื่มและขนมชื่อดัง ในป่าปาปัว อินโดนีเซีย

อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันการยึดครองบ้านของสัตว์ป่า รวมทั้งวิถีชีวิต และแหล่งอาหารของผู้คนในท้องถิ่น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ 25 ราย ได้ทำลายพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียไปแล้วกว่า 812,500 ไร่ ทั้งผืนป่าในปาปัว เกาะบอร์เนียว และสุมาตรา ส่งผลให้เกิดการลดลงอย่างรวดเร็วของ ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าฝนเขตร้อนแห่งนี้รวมถึงสัตว์ป่า เช่น อุรังอุตัง เสือสุมาตรา แรด ช้าง และนกปักษาสวรรค์ เป็นต้น

แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะยืนยันว่าประชากรของลิงอุรังอุตังเพิ่มจำนวนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2560 แต่ผลวิจัยจาก Current Biology ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของอุรังอุตังสายพันธุ์บอร์เนียวได้รับผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และประชากรอุรังอุตังลดลงมากถึง 100,000 ตัว ในช่วง15 ปีนับจากปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีการรายงานบัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ บอร์เนียว (Bornean), สุมาตรา (Sumatran) และที่เพิ่งค้นพบคือ ทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ไม่เพียงแค่อุรังอุตังเท่านั้นที่กำลังเผชิญภัยคุกคามนี้ แต่นกปักษาสวรรค์(Bird of Paradise)ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าฝนเขตร้อนปาปัวเพียงแห่งเดียวก็กำลังเสี่ยงต่อ การสูญพันธุ์ด้วย

นอกจากภัยคุกคามจากนักล่านกแล้ว การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยทำให้นกปักษาสวรรค์ใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกที และพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนปาปัวสูญเสียไปแล้วว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด

วิถีชีวิตสูญหายเมื่อแหล่งอาหารหมดลง และตามมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพ

สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดคือวิถีชีวิตของชุมชนในบริเวณป่าฝนเขตร้อนและบริเวณใกล้เคียงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังการเข้ามาของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่นี้ นอกจากจะทำให้แหล่งอาหารที่เคยมีอยู่ลดลงแล้ว การเผาป่าเพื่อปลูกปาล์มในฤดูใหม่ทำให้เกิดหมอกควันในปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในอินโดนีเซีย

การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกนี้เองที่เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าและป่าพรุของอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2558 ความเสียหายได้แผ่ขยายไปทั่วเกาะสุมาตรา กาลิมันตันและปาปัว ไฟป่าก่อให้เกิดหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่านับล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบียประเมินว่าหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียในปีพ.ศ.2558 อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 100,000 คน ธนาคารโลก(World Bank) ประเมินค่าความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้อยู่ที่ 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty International ยังเปิดเผยถึงข้อมูลที่บริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเหล่านี้ลักลอบใช้แรงงานเด็กและคนในชุมชนอีกด้วย

เราจำเป็นต้องหยุดหายนะที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก่อนที่ผืนป่าอันมหัศจรรย์ แหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์และบ้านของสัตว์ป่าและพรรณพืชอีกหลากสายพันธุ์ จะถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มนี้