วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นประจักษ์พยานของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ชนเผ่าอินูอิในทวีปอาร์กติกทางตอนเหนือสุด จนถึงชาวเกาะในแถบเส้นศูนย์สูตร ผู้คนกำลังดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ COP 21 ที่จัดขึ้นที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. 2558 เห็นชอบใน “ความตกลงปารีส” โดยประเทศต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2561 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดรายงานฉบับพิเศษชื่อว่า Global Warming of 1.5°C อันเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีส เพื่อรายงานผลกระทบของการที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเราจะรับมือต่อความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายอย่างไร ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และความพยายามในการขจัดความยากจน

สิ่งที่เราควรรู้หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 1.5°C

ถนนบนเกาะ Efate ถูกพังราบเป็นหน้ากลองจากไซโคลนดอนน่า พายุดังกล่าวมีความรุนแรงในระดับราวๆ 4-5 เลยทีเดียว และผลกระทบครั้งนี้เกิดขึ้นนอกช่วงมรสุมของหมู่เกาะ ตามคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญ พายุครั้งนี้เป็นหนึ่งในผลจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งนี้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วนี้ยังมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

1. คลื่นความร้อนสุดขั้ว

หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) คลื่นความร้อนสุดขั้ว (ที่ร้อนจนถึงชีวิต)จะกลายเป็นความปกติใหม่(new normal) ในช่วงฤดูร้อนของหลายๆประเทศที่อยู่ในเขตร้อน ซึ่งโดยทั่วไปมีอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว หากอุณภูมิเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส เราจะอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนไม่ได้เลย และเมื่อถึงเวลานั้นประชากรกว่า 420 ล้านคนจะเผชิญกับผลกระทบอย่างแสนสาหัส

การที่หลายภูมิภาคของโลก เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง มีอุณภูมิสูงเป็นทุนเดิม อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียสจึงเป็นเรื่องใหญ่  หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่า 0.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก ณ ปัจจุบัน จะทำให้แอฟริกามีคลื่นความร้อนเพิ่มเป็นสองเท่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ และที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 2 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนยิ่งจะทบทวีมากขึ้นไปอีก

2. ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 15

แผ่นน้ำแข็งละลายเป็นน้ำ มวลน้ำทะเลอุ่นขึ้นและขยายปริมาตร การเปลี่ยนแปลงในเขตอาร์กติกและมหาสมุทรทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับระดับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประชากรกว่า46ล้านคนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลทั่วโลกจะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถาวรจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจะได้เห็นระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 8 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้

3. เชื้อโรคร้ายที่ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งจะกลับมา

ในชั้นดินเยือกแข็งขั้วโลกมีเชื้อโรคหลายชนิดที่ถูกแช่แข็งอยู่ และเชื้อโรคใหม่ๆจะระบาดหากดินเยือกแข็งนี้ละลาย ในงานวิจัยล่าสุดระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสสามารถทำให้เกิดโรคระบาดกว่าครึ่งโลก

4. การพังทะลายของระบบนิเวศปะการัง

น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น จะทำอันตรายต่อปะการังที่เป็นระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในทะเล แม้ว่าเราสามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกผิวไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ก็คาดว่าระบบนิเวศปะการังจะถูกทำลายไปถึง 9 ใน 10 แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มมากกว่านี้ ปะการังส่วนที่เหลืออยู่จะถูกทำลายไปด้วย

5. การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพรรณพืช

ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) พรรณพืชร้อยละ 25 ใน 80,000 ชนิดและสัตว์อีกหลากหลายสายพันธุ์ในพื้นที่ศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เช่น แอมะซอน หรือ เกาะกาลาปากอส เริ่มสูญพันธุ์

ชาวบ้านกลับมายังบ้านที่ได้รับความเสียหายหลังจากพายุโซนร้อน ปาบึก พัดผ่าน ตำบลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พายุโซนร้อนปาบึกเป็นพายุนอกฤดูมรสุมที่พัดผ่านภูมิภาคในรอบ 68 ปี ความรุนแรงของพายุส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันคน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ไทยเผชิญพายุไซโคลนบ่อยมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2513

เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว

วิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้เราเห็นและสัมผัสความจริงใหม่ที่กระทบกับเราโดยตรงมากขึ้น เช่น ในปี พ.ศ. 2561 หายนะภัยทางธรรมชาติเกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น จากความแห้งแล้งไปถึงอุทกภัยทั่วโลก รวมถึงอุณหภูมิเย็นยะเยือกต่ำสุดเท่าที่มีการบันทึกตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และหิมะตกในทะเลทรายซาฮาราในเดือนมกราคม คลื่นความร้อนในสหราชอาณาจักรในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม คลื่นความร้อนในญี่ปุ่นที่ทุบสถิติและตามมาด้วยพายุไต้ฝุ่นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ไฟป่าในเขตวงรอบอาร์กติกของสวีเดน และที่กรีซในเดือนกรกฏาคม อุทกภัยร้ายแรงในจีนและอินเดียช่วงเดือนสิงหาคมและการแผลงฤทธิ์ของซูเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุดในเดือนกันยายน

เราสามารถกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศในวันนี้เพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยและยั่งยืนของทุกคน

Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน