มาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศที่แตกต่าง

การกำหนดมาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปและการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จากแหล่งกำเนิดเป็นมาตรการหลักที่ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

สภาพการจราจรที่ติดขัดบริเวณถนนรัชดา-สุทธิสารในวันที่กรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่
ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของไทยไม่ปกป้องสุขภาพและชีวิตคน
เมื่อเทียบกับข้อแนะนําขององค์กรอนามัยโลก(WHO)แล้ว เราจะพบว่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM2.5 ของประเทศไทยยังถือว่าไม่คุ้มครองสุขภาพและชีวิตของประชาชนในระดับที่ดีที่สุด
- ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทยอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนองค์การอนามัยโลก(WHO)เสนอให้ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ให้มากที่สุดจากฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกัน WHO เสนอว่าไม่มีการสัมผัส PM2.5 ในระดับใดที่ปลอดภัยจากผลกระทบต่อสุขภาพ
- ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมื่อพิจารณาข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก(WHO) จะเห็นว่าเมืองหลายแห่งในประเทศไทยมีค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินทั้งข้อแนะนำของ WHO และค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง ข้อกําหนดทางกฎหมายที่มีอยู่นั้นเปิดช่องให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด
ทุกคนมีสิทธิในเข้าถึงอากาศสะอาด ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและทันท่วงที ผลักดันแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทําให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและคุ้มครองชีวิตของประชาชน กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับมาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM2.5 ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงที่สุดกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อควบคุมและลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เพื่ออากาศสะอาดของคนไทยทุกคน