เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1760 เรื่อยมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการทำเกษตรกรรม การใช้แรงงานมนุษย์มาพึ่งพาเครื่องจักรและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะนำความทันสมัยและเทคโนโลยีมากมาย แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส 

Climate Walk in Manila. © Nathaniel Garcia / Greenpeace

แต่ละประเทศต่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์คาร์บอนบรีฟ ระบุถึงสถิติกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1850 – 2021 คำนวนจากแหล่งกำเนิดการปล่อยก๊าซคือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการใช้ที่ดิน

จะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการใช้ที่ดินสามอันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนและรัสเซีย ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สร้างภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น บ่อยครั้งขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนทั่วโลก 

ความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

หลายประเทศทั่วโลกต้องรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความสูญเสียจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก อีกทั้งประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรมากพอที่จะรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้เลย

เมื่อต้องสูญเสียจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเริ่มเรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” เพื่อสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในโลกที่ปลอดภัยจากกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก นอกจากนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคำมั่นสัญญาที่กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักให้ไว้เกี่ยวกับแผนการที่โลกจะปรับตัวให้รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักให้ความสำคัญด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

COP27 Flood The COP.
Floods in Northeast, Thailand. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

กรีนพีซ สนับสนุนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

เพราะสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยและโลกอันอุดมสมบูรณ์ล้วนเชื่อมโยงต่อเราทุกคน กรีนพีซทำงานรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐต้องมีนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมทั้งสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นทาง ปราศจากการฟอกเขียวที่ไม่ใช่ทางออกสำหรับโลกของเรา 

เราเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาลงทุนในระบบพลังงานหมุนเวียน  เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น เราสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเรียกร้องระบบอาหารที่ยั่งยืนกว่าเดิมผ่านระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เน้นพืชผักที่หลากหลาย 

นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลักต้องชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเป็นผลพวงจากมลพิษที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ที่ก่อมลพิษน้อยที่สุดแต่กลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เราก็ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศได้

ร่วมแชร์งานรณรงค์ของเราเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ


ร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ รวมถึงนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ